บรรลัยวิทยา: แก้วเก็บอุณหภูมิกับสารตะกั่ว
GH News May 12, 2025 08:27 AM

ปัจจุบันหลายคนนิยมเลือกใช้ “แก้วเก็บอุณหภูมิ” แทนแก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง แก้วเก็บอุณหภูมิสามารถเก็บรักษาอุณหภูมิให้คงที่ จึงใช้บรรจุเครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็น

แก้วเก็บอุณหภูมินิยมผลิตจาก “สเตนเลสสตีล (stainless steel)” หรือ “เหล็กกล้าไร้สนิม” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกรด JIS SUS304 หรือที่เรียกย่อๆ ว่า เกรด 304 หรือเกรด 18/8เหล็กกล้าไร้สนิมเกรดนี้เป็นเกรดที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดเกรดหนึ่ง และมักใช้ในการทำเครื่องครัวต่างๆ เช่น กระทะและหม้อ

เหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 มีธาตุโครเมียม (Cr) ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยเพิ่มสมบัติต้านการกัดกร่อน และนิกเกิล (Ni) ประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ นิกเกิลจะช่วยเพิ่มสมบัติต้านทานการกัดกร่อน และยังทำให้เหล็กกล้าไร้สนิมเปลี่ยนโครงสร้างเป็นออสเทนไนต์ซึ่งแม่เหล็กดูดไม่ติด

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคหลายคนมักเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 มีปัญหาสารตะกั่ว (Pb) ปนเปื้อนเช่นเดียวกับภาชนะที่ทำจากเหล็กและวัสดุอื่นอีกหลายชนิดที่มีข่าวเกี่ยวกับพิษของสารตะกั่ว ซึ่งหากสารตะกั่วสะสมในร่างกายก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง สารตะกั่วทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียน หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนในเด็กเล็ก พิษของตะกั่วจะขัดขวางการพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท ทำให้เด็กเรียนรู้ได้ช้า

ทั้งนี้ หากพิจารณาปัญหาการปนเปื้อนของตะกั่วในภาชนะต่างๆ จะพบว่ามาจากการใช้โลหะบัดกรีที่มีส่วนผสมของตะกั่ว การเชื่อมประสานด้วยการบัดกรีจะช่วยป้องกันการรั่วซึมของภาชนะดังกล่าว แต่ในการขึ้นรูปแก้วเก็บอุณหภูมิจะใช้การเชื่อมประสานโดยไม่มีการใช้โลหะเติม นอกจากนี้ส่วนผสมทางเคมีของเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 ก็ไม่มีธาตุตะกั่วแต่อย่างใด

นอกจากนี้เหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 ยังมีค่าความต้านทานการกัดกร่อนสูง (high corrosion resistance) ทำให้มีอัตราการกัดกร่อนที่ต่ำ (low corrosion rate) ดังนั้นการใช้งานทั่วไปในครัวเรือน ไม่ว่าจะสัมผัสกับความร้อน ความเค็ม หรือความเปรี้ยวใดๆ ก็จะไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะในอาหาร จนก่อให้เกิดอันตรายจากสารตะกั่วอย่างที่กังวลกัน

อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัย ในการเลือกซื้อทุกครั้งผู้บริโภคควรเลือกแก้วเก็บอุณหภูมิจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือมองหาตราสัญลักษณ์การรับรองอย่างเช่น มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย) เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ผลิตขึ้นจากวัสดุที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน

ข้อมูลเพิ่มเติม – บทความ “บรรลัยวิทยา” โดย โฆษิต วงค์ปิ่นแก้ว วิศวกรอาวุโส ทีมวิจัยการวิเคราะห์ความเสียหายและวิศวกรรมการเชื่อถือ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โทรศัพท์ 0-2564-6500 ต่อ 4735

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.