ไพศาล สุขเจริญ ผุด‘สมายล์ล้านนา’ โรงแรมแห่งรอยยิ้ม กลางเมืองเชียงใหม่
วิณัฐฎาภรณ์  ศิริโสม May 12, 2025 03:22 PM

ไพศาล สุขเจริญ ผุด‘สมายล์ล้านนา’ โรงแรมแห่งรอยยิ้ม กลางเมืองเชียงใหม่

งหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นเมืองหลักที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าไปเยี่ยมเยือนปีละหลายล้านคน ทำให้พื้นที่ในเมืองเชียงใหม่มีราคาค่าตัวที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตัวเมือง เนื่องจากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาล ทำให้ถนนหนทางมีความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ที่ดูแลพื้นที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี

การมีพื้นที่ประกอบกิจการต่างๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่จึงถือเป็นทำเลทองที่คงไม่สามารถหาได้ง่ายอีกต่อไป เมื่อมีการเปิดตัวโรงแรมสมายล์ล้านนา (Smile Lanna) โรงแรมขนาดใหญ่ตั้งบนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ แต่มีจำนวนห้องพักเพียง 63 ห้องเท่านั้น ทำให้เรียกความน่าสนใจจากสายตานักธุรกิจในแวดวงเดียวกันได้เป็นอย่างดี รวมถึงบรรดาแขกที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านเข้าพักกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งแขกหน้าใหม่และหน้าเดิมที่ติดใจเข้ามาพักซ้ำกว่า 15% ของภาพรวม

ไพศาล สุขเจริญ ผู้เป็นเจ้าของ เล่าถึงการพัฒนาโรงแรมสมายล์ล้านนาให้กลายเป็นโรงแรมรีสอร์ตนั้น โดยได้นำแนวคิดโคก-หนอง-นาโมเดล (คือการจัดการพื้นที่ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตรที่เป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ) เป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน มาใส่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำโรงแรม ผสมผสานกับความพอเพียงเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจนับตั้งแต่เปิดตัวในช่วงปี 2562 ก่อนเผชิญกับการระบาดโควิด-19 อย่างคาดไม่ถึง สร้างความตกใจให้กับผู้ประกอบธุรกิจทุกราย รวมถึงตัวผู้ก่อตั้งโรงแรมใหม่แห่งนี้ด้วย วิธีในการก้าวผ่านภาวะวิกฤตในขณะนั้นพร้อมพนักงานอีกกว่า 60 ชีวิต ในช่วงที่โรงแรมต้องปิดลงชั่วคราว ส่วนหนึ่งก็ได้ข้าวและผักปลอดสารที่ปลูกจากโคก-หนอง-นาโมเดล ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารเลี้ยงปากท้องพนักงานทุกคนช่วงที่รายได้ของโรงแรมกลายเป็นศูนย์ เพื่อกลับมาสู้กันใหม่อีกครั้งหลังจากหมดวิกฤตโควิด และวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน จากนี้ไปคงต้องอยู่บนความไม่ประมาท และการออมเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจ เหมือนที่ถูกถามว่า จำนวนห้องพัก 63 ห้องนี้ มีแผนในการพัฒนาขึ้นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพราะยังมีพื้นที่เหลืออีกในจำนวนกว่า 5 ไร่ ต้องบอกว่ายังไม่มีแผนทำอะไรเพิ่ม เพราะอยากอยู่กับความพอเพียงแบบปัจจุบันก่อน หากพยายามพัฒนามากกว่านี้ก็จะเหนื่อยมากเกินไป” ไพศาลกล่าว

โรงแรมสมายล์ล้านนาใช้เวลาออกแบบ 1 ปี ก่อสร้างอีก 2 ปีครึ่ง รวมเวลาประมาณ 3 ปีครึ่งถึงได้เปิดให้บริการ ช่วงปี 2562 ตอนออกแบบก็มีปรึกษาเพื่อนฝูงและคนทำธุรกิจที่เชียงใหม่มากหน้าหลายตา แต่เพื่อนที่ให้คำปรึกษาล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โมเดลธุรกิจที่วางไว้มองอย่างไรก็ไม่คุ้ม หากลงทุนอย่างนี้จะคืนทุนได้อย่างไร อาจเสียที่ดินไปเปล่าๆ ด้วยซ้ำ แต่ต้องบอกว่าเรามีปณิธานแน่วแน่ อย่างทำเลคูเมืองเส้นนี้ เมื่อก่อนเป็นที่รกร้างปิดล้อมด้วยสังกะสี มีการวาดรูปเล่นเปรอะเปื้อนเต็มไปหมด กลางคืนก็มีรถมาจอดกันเต็มถนนเพื่อแข่งขันกันเล่น แถมยังใกล้โรงพยาบาลสวนปรุง ใครผ่านมาก็กลัว รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย

เมื่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่นี้ขึ้นมาสภาพแวดล้อมแถวนี้ก็เปลี่ยนไป เดินผ่านแล้วสบายใจ ปลอดภัยขึ้น สวยขึ้น รวมถึงภายในตัวโรงแรมได้พัฒนาพื้นที่บางส่วนติดถนนหน้าโรงแรมเป็นคาเฟ่ สมายล์ ล้านนา คอฟฟี่ ที่มีแนวคิดเป็นมากกว่ากาแฟ ถือเป็นพื้นที่แห่งรอยยิ้มและความสบายใจ เพราะไม่ได้เสิร์ฟแค่กาแฟ แต่เสิร์ฟความอบอุ่นจากหัวใจด้วย ทำให้นอกจากแขกจะเข้ามาใช้บริการเข้าพักโรงแรมแล้ว ยังสามารถมาใช้บริการคาเฟ่ที่มีนาขั้นบันไดแห่งนี้ได้ด้วย เนื่องจากอาหารของเราจานละไม่เกินร้อยบาท กาแฟแก้วก็ไม่เกินร้อยบาท เพราะโจทย์ของเราคือคนท้องถิ่นต้องสามารถเข้าถึงได้ คนจากต่างถิ่นก็สามารถเข้าถึงได้อย่างดีเช่นกัน

นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โรงแรมผู้เข้าพักเกือบเต็มทุกวันโดยเฉพาะในช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) มีอัตราการเข้าพักวิ่งเฉลี่ยอยู่ประมาณ 70-80% ทุกคนต่างประทับใจในรอยยิ้มและการบริการของพนักงานที่มีความเป็นมิตร เต็มใจให้บริการในทุกด้าน โดยส่วนนี้มองว่าเป็นเพราะตัวพนักงานเองก็ถูกดูแลมาอย่างดีเช่นกัน แม้มีความหลากหลายทั้งคนเมืองและชาวเขากว่า 9 ชาติพันธุ์ ซึ่งเราดูแลพวกเขาเหมือนลูกหลาน ให้พนักงานหมดห่วงเรื่องอาหารการกินด้วยข้าว 3 มื้อ ขณะเดียวกันก็สอนให้มีความรับผิดชอบในหน้าที่ อธิบายถึงแรงบันดาลใจในการสร้างโรงแรมว่าทำไปเพื่ออะไร จึงรู้สึกถึงความพร้อมในการให้บริการลูกค้าจากข้างในใจจริงๆ

ต้องบอกว่า โรงแรมถือเป็นธุรกิจที่น่ากลัว เพราะระดับผู้จัดการจะตั้งเงินเดือนไว้กว่า 40,000-50,000 บาท แต่พนักงานในระดับล่างเงินเดือนจะถูกมาก ทั้งที่มีประสบการณ์ทำงาน 8-10 ปี เงินเดือนจะอยู่ระดับ 10,000 บาทกว่าๆ เท่านั้น พนักงานทุกคนให้ความหวังไว้กับเซอร์วิส ชาร์จ ช่วงแรกไม่รู้เรื่องโรงแรมก็จ้างผู้บริหารมาวางแผนดูแลแทน แต่พอเจอโควิดระบาดกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ก็ใช้เฉพาะพนักงานระดับล่าง ระดับผู้จัดการก็แจ้งไปตรงๆ ว่าไม่สามารถจ้างต่อได้จริงๆ ส่วนพนักงานระดับปฏิบัติการที่เดิมมีอาหารฟรีให้วันละ 1 มื้อ ก็ปรับเพิ่มมาเป็น 3 มื้อ ทุกคนสามารถกินอาหารที่โรงแรมได้ตั้งแต่เช้าจนกลับบ้าน เมื่อไม่มีรายจ่ายเรื่องค่าอาหาร ทุกคนก็เบาใจในภาระค่าครองชีพไปได้บ้าง โรงแรมก็เบาใจในค่าตอบแทนหลักหลายหมื่นของผู้บริหารระดับสูง

รูปแบบการทำงานของโรงแรมสมายล์ ล้านนา ถือว่าแตกต่างจากโรงแรมอื่น เนื่องจากเมื่อก่อนคนทำงานโรงแรมจะไม่ทำงานข้ามแผนก แต่เราเปลี่ยนระบบใหม่ หากมีส่วนใดที่แรงงานไม่พอก็สามารถช่วยกันได้ และต้องไม่คิดว่าคนที่มาช่วยทำให้งานเสีย ต้องทำด้วยใจร้อยเปอร์เซ็นต์ พนักงานที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาและชนเผ่าหลากหลายชาติพันธุ์ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าการทำงานไม่ได้ขั้นตอนมากนัก พนักงานสามารถยิ้มแย้มได้อย่างตามธรรมชาติ หากไปโรงแรมห้าดาว พนักงานจะต้องแต่งตัวตามยูนิฟอร์มที่กำหนด ต้องเนี้ยบในทุกสถานการณ์ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ เวลาเสิร์ฟต้องเข้าให้ถูกทาง พนักงานของเราไม่เป็นแบบนั้น แต่รู้ขั้นตอน สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยรอยยิ้มจริงใจเหมือนชื่อของโรงแรม

สำหรับชื่อโรงแรมสมายล์ล้านนา ต้องบอกว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาให้ไพเราะเฉยๆ โดยเฉพาะคำว่า S-M-I-L-E ได้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคู่ชีวิตที่ผ่านร้อนหนาวเคียงข้างกันมายาวนาน คือ คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางภาษาอังกฤษ ได้ฝากเป็นความหมายดีๆ ไว้ในแต่ละตัวอักษร แปลไว้ได้อย่างสวยงาม คือ

S = Sincerity (ความจริงใจ) 

M = Manner of generosity (กิริยาจากใจที่มีความโอบอ้อมอารี)

I = Increase of sharing (เพิ่มพูนการแบ่งปัน)

L = Long-lasting of altruism (การเห็นแก่ผู้อื่นอย่างยั่งยืน) 

E = Enthusiasm of wholehearted service (ความกระตือรือร้นในการให้บริการอย่างสุดจิตสุดใจ) 

ซึ่งทั้งหมดก็สะท้อนออกมาเป็นงานบริการคุณภาพที่ผู้มาเยือนสัมผัสได้ และเป็นความยั่งยืนที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเติบโตต่อไป

ไพศาลเล่าย้อนรำลึกว่า แนวคิดแห่งความพอเพียงที่ยึดถือนั้นใช้ประสบการณ์ชีวิตเป็นคำสอนของตัวเอง โดยย้อนกลับไปในวัยเด็ก ก่อนได้รับโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา ไพศาลยังไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ใช้ชีวิตเหมือนเด็กดอยทั่วไปบนดอยสูงกว่าน้ำทะเลในระดับหลายพันเมตร หลังจากนั้นมีตำรวจชายแดนมาสอนหนังสือคนบนดอย จึงมีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาไทยในเบื้องต้น เพราะพ่อเคยเป็นนายทหารจีนอยู่บนดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ สืบเชื้อสายมาจากจีนยูนนาน ช่วงหลายสิบปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯดอยอ่างขาง ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวแทนฝิ่น ตอนนั้นพ่อตัวเองเป็นผู้นำทหารที่เรียกว่ากองพล 93 และพ่อเป็นแกนนำไม่ให้คนปลูกฝิ่น ทำให้ตัวเองที่เป็นลูกได้รับโอกาสเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ตามความใฝ่ฝันของเด็กบนดอยที่อยากเข้าตัวเมือง อยากเห็นความศิวิไลซ์ ความเจริญหลายอย่าง พอมาเรียนกรุงเทพฯก็ต้องเริ่มต้นใหม่หมด เพราะไม่มีพื้นฐานการเรียนหนังสือเลย

แรกเริ่มเข้าเรียนที่วัดธาตุทอง จากนั้นเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้ชีวิตตามความฝันมาเรื่อยๆ จนได้พบกับคุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณครูสมศรีมีปณิธานในใจว่า ควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเมืองเชียงใหม่ที่เป็นบ้านเกิด ทุกอย่างจึงคุ้มค่ากับความตั้งใจ ได้กำไรตั้งแต่คิดลงมือทำแล้ว หลังจากทั้งคู่ได้รับโอกาสจากสังคมมาโดยตลอด จึงอยากตอบแทนคืนสู่แผ่นดินเท่าที่ต้นทุนและกำลังพอมี โดยปัจจุบันแม้จะมีธุรกิจโรงแรม แต่ครูสมศรีก็ยังตระเวนสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนทั่วประเทศฟรีตามความตั้งใจเดิม

ทุกวันนี้ความสุขคือ การอยู่แบบสมถะ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และไม่สร้างความทุกข์ร้อนให้ใคร เมื่อยังมีกำลังที่สามารถเดินทาง หรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้บ้าง ก็ทำต่อ หากเหนื่อยก็พักก่อน เมื่อมีแรงแล้วก็เดินต่อไป เหมือนคุณครูสมศรีที่ยังมีปณิธานในการสอนภาษาอังกฤษฟรีตามโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ

“ผมก็ยึดมั่นความกตัญญู รู้บุญคุณ ตอบแทนผู้ที่ให้โอกาสเรา อย่างบ้านที่เคยดูแลตัวเองตอนเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผลไม้อะไรที่ปลูกแล้วให้ผลดีที่สุด จะคัดและส่งไปให้ทันทีก่อนที่ตัวเองจะได้กินหรือขาย เรายังแบ่งกำไรจากการทำธุรกิจไปพัฒนาชุมชนรอบตัวล่าสุดเราปรับปรุงลานออกกำลังกายที่สวนบวกหาด ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงแรม พอเราเห็นคนในชุมชนที่มาออกกำลังกาย ยิ้มได้ มีสุขภาพดี เห็นแล้วก็มีความสุขไปด้วย” ไพศาลกล่าว พร้อมส่งรอยยิ้ม 

วิณัฐฎาภรณ์  ศิริโสม

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.