การค้าโลกผ่อนคลายหลังจีน-สหรัฐบรรลุข้อตกลงภาษี "อนุสรณ์" ชี้หากไทยเจรจาไม่ได้ ศก.ต่ำกว่า 2%
วันที่ 12 พฤษภาคม 2568 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การบรรลุข้อตกลงเรื่องภาษีนำเข้าของจีนและสหรัฐอเมริกา เป็น สัญญาณบวกต่อระบบการค้าโลกและเศรษฐกิจโลก ข้อตกลงในการลดภาษีระหว่างกันลง 115% เป็นเวลา 90 วันทำให้อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯต่อสินค้าจีนจะลดลงเหลือเพียง 30% ขณะที่ อัตราภาษีนำเข้าของจีนต่อสินค้าสหรัฐฯจะลดลงเหลือเพียง 10% อัตราภาษีนำเข้าในระดับดังกล่าวจะทำให้การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปรกติ ส่งผลกระทบต่อปริมาณและมูลค่าการค้าต่อกันไม่มากนัก และ เป็นการปรับสมดุลทางการค้าที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่า อัตราภาษีระดับดังกล่าวจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ 90 วัน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสองอันดับแรกของโลกจะไม่รุนแรงอย่างที่วิตกกังวลกันหากยังคงอัตราภาษีในระดับ 10-30% ต่อไป ปัญหาแรงกดดันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ การขาดแคลนสินค้าในสหรัฐอเมริกาจะบรรเทาลงอย่างชัดเจน ห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการผลิตของบรรษัทข้ามชาติปรับตัวในทิศทางดีขึ้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวในทิศทางที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
โดยงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก และธนาคารโลก ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องทางการค้ามีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมากภายใต้โครงสร้างการผลิตของโลกที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก การขึ้นกำแพงภาษีนอกจากกระทบต่อการเติบโตของการค้า เศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังกระทบต่อการจ้างงานโดยรวม กระทบต่อผลิตภาพ รวมทั้งกดทับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการต่างๆ การผ่อนคลายลงของสงครามการค้าย่อมทำให้เกิดผลบวกต่อหลายภาคเศรษฐกิจ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้าที่ไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการสูญเสียสวัสดิการสังคมโลกโดยรวมน่าจะบรรเทาลงจากข้อตกลงการค้าลดภาษีล่าสุด นอกจากนี้น่าจะมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกลดลงโดยเฉพาะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ส่งออกและเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีอาจดีกว่าคาดหากไทยสามารถเจรจาให้อัตราภาษีลดลงมาต่ำกว่า 30% หากไทยถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% ย่อมไม่สามารถแข่งขันจากสินค้าจากจีนได้ การทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา 36% เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยไม่ให้จีดีพีของไทยขยายตัวต่ำกว่า 2% หากไม่สามารถเจรจาลดภาษีได้เลย มีโอกาสเช่นเดียวกันที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอาจติดลบเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก และภาคส่งออกจะติดลบเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก
ทั้งนี้คาดหวังว่า รัฐบาลไทยจะสามารถเจรจาเพื่อดึงอัตราภาษีนำเข้าที่สูงถึง 36% ลงมาให้ต่ำกว่า 30% ได้หากลงมาอยู่ระดับ 10-15% เศรษฐกิจและภาคส่งออกไทยน่าจะยังประคับประคองไปได้ แต่ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งของไทย คือ เสถียรภาพของรัฐบาล หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือทีมเจรจาในระหว่างการเจรจาอาจทำให้เกิดอุปสรรคได้ เสถียรภาพทางการเมือง เป็นปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของไทย ส่วนผลกระทบภาษีนำเข้า กระทบทั่วโลก การไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจา และไม่สามารถเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯได้ตามกรอบเวลาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย
นายอนุสรณ์ ประเมินว่า เม็ดเงินของกองทุนและนักลงทุนจะถูกโยกเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงินมากขึ้น กองทุนและนักลงทุนอาจลดการถือเงินสดและทองคำลงบ้าง คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะฟื้นตัวแรง ขณะที่ ราคาทองคำน่าจะปรับตัวลงแรงแต่ยังไม่ใช่ขาลง ตราบเท่าที่ ความเชื่อมั่นต่อเงินสกุลดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯไม่เหมือนเดิม สถานการณ์สงครามการค้ายังไม่แน่นอน และ ยังมีความเสี่ยงจากสงครามในหลายพื้นที่
#การค้าโลก #ภาษีทรัมป์ #ข่าววันนี้ #อนุสรณ์ธรรมใจ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์