ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ SMEs หลากหลายสาขา ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีก และบริการ สิ่งหนึ่งที่ได้ยินจากแทบทุกเสียง คือความพยายามอย่างเต็มกำลังในการประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เปราะบางนี้ไปให้ได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง กำลังซื้อที่หดตัว และความไม่แน่นอนที่คืบคลานเข้ามาในทุกมิติของชีวิตการค้า
การเดินเกมธุรกิจวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการเร่งโต แต่คือการประคับประคองให้อยู่รอดอย่างสง่างาม ดิฉันสังเกตว่าคำถามของผู้ประกอบการหลายท่านกำลังเปลี่ยนไป จาก “จะขยายธุรกิจอย่างไร” เป็น “จะปรับตัวอย่างไรให้ดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแรงในเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป” การเดินเกมธุรกิจวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการเร่งโต แต่คือการประคับประคองให้อยู่รอดอย่างสง่างาม
ภาวะที่พื้นสนามธุรกิจไม่ราบเรียบเหมือนเดิม การปรับตัวจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก หากแต่เป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความจริงที่ต้องเผชิญคือ สูตรสำเร็จเดิม ๆ ที่เคยเวิร์กอาจกลายเป็นกับดัก หากไม่ยอมเปิดรับความเปลี่ยนแปลง ด้วยจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คนกล้าจ่ายน้อยลง ตัดสินใจนานขึ้น และระวังการใช้จ่ายมากกว่าเดิมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
หลายธุรกิจที่ยังเหนียวแน่นกับแนวทางเดิม พบว่าสิ่งที่เคยเวิร์กกลับให้ผลลัพธ์น้อยลงทุกวัน บางรายยิ่งฝืนทุ่มงบฯ โปรโมชั่น ยิ่งพบว่าต้นทุนกลับสูงขึ้นโดยไม่ได้ยอดขายตามคาด
สิ่งที่ดิฉันอยากชวนทุกท่านพิจารณาคือ แทนที่จะพยายามไล่ตามเศรษฐกิจมหภาค ลองหันกลับมาสร้าง “เศรษฐกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง” ที่เราควบคุมได้ โดยโฟกัสที่ “ฐานลูกค้าที่รักและเชื่อมั่นในตัวเรา” กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มที่ใหญ่ที่สุด แต่เป็นกลุ่มที่รู้จัก เข้าใจ และเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราส่งมอบให้ได้อย่างแท้จริง พวกเขาอาจไม่ใช่คนที่เลือกเราจากการลดราคา แต่เลือกเราด้วยความศรัทธาในคุณภาพและความจริงใจ
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ต้องเลิกพยายามเป็น “ทุกอย่างของทุกคน” แล้วหันมาเป็น “สิ่งพิเศษสำหรับใครบางคน” อย่างแท้จริง ฐานลูกค้ากลุ่มนี้แม้จะไม่มาก แต่เปี่ยมด้วยความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เป็นเครือข่ายที่แข็งแรงและมั่นคง พวกเขาคือเกราะป้องกันที่ดีที่สุดในวันที่โลกภายนอกปั่นป่วน
หัวใจของกลยุทธ์นี้คือ การรู้จักลูกค้าในระดับที่ลึกซึ้งกว่าที่เคย ไม่ใช่แค่รู้ว่าเขาซื้ออะไร แต่เข้าใจว่าเขาเป็นใคร ใช้ชีวิตอย่างไร มีค่านิยม และความคาดหวังแบบไหน การมองเห็นลูกค้าในมิติที่กว้างและลึกกว่า จะช่วยให้เราสร้างความผูกพันที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การขายสินค้าครั้งเดียวจบ แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้เขากลับมาเลือกเราอย่างสม่ำเสมอ
การให้บริการที่เป็นส่วนตัว การติดตามผลอย่างตั้งใจ และการสื่อสารด้วยความจริงใจต่อเนื่อง คือเส้นทางที่จะหล่อเลี้ยงสายสัมพันธ์นี้ให้แน่นแฟ้น เมื่อธุรกิจมีฐานลูกค้าที่ภักดีอยู่ในมือ เราก็จะมีเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงกิจการให้ผ่านพ้นพายุเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง
ในสถานการณ์เช่นนี้ เป้าหมายของ SMEs อาจไม่ใช่การขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่คือการเสริมสร้างความแข็งแรงจากภายในให้มั่นคงพอจะยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง นั่นอาจหมายถึงการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป การปรับโครงสร้างต้นทุน การเปลี่ยนแนวทางการขายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้า หรือแม้แต่การหยุดพักหนึ่งก้าว เพื่อทบทวนเป้าหมายที่แท้จริงของธุรกิจ
การเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเรื่องใหญ่โต แต่อาจเริ่มจากการตั้งใจฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าที่เชื่อมั่นในเราอย่างจริงจัง ปรับโทนการสื่อสารให้ตรงใจ และเลือกใช้ช่องทางการขายที่เหมาะสม
“การเปลี่ยน” ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเรามีสายใยผูกพันกับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง แต่ในปีที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน ความยืดหยุ่น (Resilience) คือทรัพย์สินที่ประเมินค่าไม่ได้ ความสามารถในการปรับตัวไม่ใช่เพียงเพื่อเอาตัวรอด แต่เพื่อวางรากฐานสำหรับการเติบโตในวันข้างหน้า SMEs ที่กล้ายืดหยุ่นและเรียนรู้จากการเปลี่ยนแปลง จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่าเดิม และจะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง
ดิฉันเชื่อเสมอว่า SMEs ไทยมีศักยภาพ มีความตั้งใจ และมีหัวใจที่แข็งแกร่งพอ หากเรากล้าที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และเดินหน้าอย่างไม่ย่อท้อ วันที่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง
ธุรกิจที่ยืนหยัดในวันนี้จะเป็นผู้ที่พร้อมที่สุดในการก้าวสู่โอกาสครั้งใหม่อย่างสง่างาม