เท้ง ชี้ ศก.ไทย เหมือนผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง ยังไม่ฟื้นตัว ซัดหาก รบ.ยังทำนโยบายเดิม แม้แจกหมื่นก็ไม่ช่วย
GH News May 14, 2025 03:03 PM

ผู้นำฝ่ายค้านฯ ชี้ ศก.ไทย เหมือนผู้ป่วยโควิดเรื้อรัง ยังไม่ฟื้นตัว ซัดหาก รบ.ยังทำนโยบายเดิม แม้แจกหมื่นก็ไม่ช่วย แถมเป็นดาวดับอีก แนะอุดรอยรั่วทุจริตคอร์รัปชัน ให้ประเทศเดินหน้าได้

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่จ.ขอนแก่น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวปาฐกถาในเวทีผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน ครั้งที่ 4 หัวข้อ ‘เศรษฐกิจอีสานในสงครามการค้าโลก’

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสาน และแนวทางรับมือต่อความท้าทายของสงครามการค้าโลก จากหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และประชาชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปผลักดันสู่การแก้ไข ตามกระบวนการนิติบัญญัติ

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคอีสานเหมือนคนติดโควิดเรื้อรัง ไม่ฟื้นตัว และยังมาเจอสงครามการค้าอีก หากเราดูเส้นกราฟ ในขณะนี้ เรากลับมาฟื้นตัวใกล้กับช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว แต่หากเทียบกับประเทศอื่นทุกคนขยายตัวมากกว่าเรา เราเติบโตช้ากว่าเขา และยังเติบโตช้ากว่าการเติบโตของตัวเองด้วยซ้ำ

ปัจจัยที่จะส่งผล หรือคือเรื่องเงินในกระเป๋า ทั้งการบริโภคและการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว แต่ในภาคอีสานยังมีความหวังอยู่ในบางสาขาด้านเศรษฐกิจ สำหรับผลผลิตด้านการเกษตร แม้ว่าในการผลิตมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ราคาของพืชหลักยังคงมีความผันผวนมาก ทำให้คาดว่า อาจส่งผลต่อดัชนีรายได้เกษตรกรลดลง

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ในภาคอีสานก็ยังไม่มีการฟื้นตัวจากกำลังซื้อในประเทศที่จำกัด รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และความไม่แน่นอนในการค้าโลก และหลังปี 68 มีจุดตัดของ เส้นการผลิต และเส้นการบริโภค ยิ่งขยายห่างออกจากการเรื่อยๆ กล่าวคือ แม้เราจะมีเงินในกระเป๋า ถ้ารัฐบาลแจกดิจิทัลวอลเล็ตเงินหมื่น ตัวเลขบริโภคสูงขึ้น แต่ตัวเลขจีดีพีทางด้านการผลิตต่ำลง เพราาะการซื้อสินค้าราคาถูกที่รับมาจากต่างประเทศ

“ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป วิธีการที่เราดำเนินนโยบายแบบเดิม การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ในแง่หนึ่งการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าลืมว่า วิธีการอย่างนี้ ไม่สามารถสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป เพราะบริบทโลกเปลี่ยนไปแล้ว” นายณัฐพงษ์กล่าว

นายณัฐพงษ์ ยังย้ำถึงข้อเสนอ 5 เสา ในการต่อรองเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา เจรจา-กระชับ-รับมือ-เยียวยา-ลงทุน ที่สื่อสารมาตลอด

และได้แบ่งพื้นที่ภาคอีสานเป็น 4 พื้นที่ ซึ่งสัดส่วนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเกษตร มีความเข้มข้นมาก มีทั้งส่วนที่เป็นดาวรุ่ง คือความเข้มข้นน้อย ขนาดเศรษฐกิจเหล่านี้ ยังไม่ได้เป็นสัดส่วนใหญ่ แต่กำลังมีการเติบโต เพื่อใหญ่ และเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ มีพื้นที่ที่เป็นดาวเหนือ มีความเข้มข้น และการเติบโตสูง

ส่วนพื้นที่ดาวค้างฟ้า ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ แต่ไม่มีการเติบโตแล้ว เนื่องจากอิ่มตัว ขยายต่อไปไม่ได้ หากมองในภาพรวม จะเห็นว่า เศรษฐกิจในภาคอีสานที่เราเคยพึ่งพา ในอนาคต จะหมุนกลายมาเป็นดาวดับ สุดท้ายจะกลายเป็นเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่โลกลืม รวมถึงภาคการเกษตร ถ้าเราไม่ได้เพิ่มภาคการผลิต ก็แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ดังนั้น เราต้องอ่านข้อมูลให้ออกว่า ในปัจจุบัน อะไรคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องส่งเสริม

โดยภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ภาคอีสานขาดเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ ขาดสาขาเศรษฐกิจที่เข้มข้นและโตไว แต่มีดาวรุ่งโตไวที่ยังไม่เข้มข้นหลายสาขา

ขณะที่ ด้านธุรกิจสร้างสรรค์ ใน 8 จังหวัดอีสาน รวมแล้ว มีธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 4 แสนแห่ง อาทิ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี ศรีสะเกษ สกลนคร และเลย อีกทั้งสาขาศิลปะ และบันเทิง ซึ่งทุกจังหวัดในภาคอีสาน เติบโตเร็วกว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศ

ขณะที่ตัวเลขล่าสุดในปี 2568 การท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ‘ท่องเที่ยวสายมู’ เพิ่มขึ้น เริ่มมีโอกาสและศักยภาพมากขึ้น ในเรื่องโรงแรม และร้านอาหาร แต่ด้านที่ควรส่งเสริม คืออีสานยังตามหลังในสาขาสารสนเทศ และการสื่อสารมาก

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญ คือปัญหาเศรษฐกิจ ในฐานะฝ่ายค้านให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการอุดรอยรั่ว หากเปรียบประเทศเป็นเรือที่มีกัปตัน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้แล้ว คือทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเราเดินหน้าต่อต้านอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะอยู่ในภาคการเมือง ภาครัฐ ระบบราชการ หรือภาคเอกชน

จากนั้น เข้าสู่เวทีเสวนา ‘เศรษฐกิจอีสานในสงครามการค้าโลก’ โดยวิทยากรจากพรรคประชาชน ได้แก่ นายวีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น, นายอิทธิพล ชลธราศิริ สส.ขอนแก่น, นายชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง สส.ขอนแก่น และน.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.