กรมควบคุมโรค รับ โควิด 19 หลังสงกรานต์ พุ่งสูงถึง 7 หมื่นราย แต่อัตราป่วยตายยังไม่มาก อยู่ที่ 0.03 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว
วันที่ 14 พ.ค.2568 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ โรคไข้หวัดใหญ่ และ โรคโควิด-19 ว่า สำหรับโรคแอนแทรกซ์ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อแอนแทรกซ์ ตอนนี้ใน จ.มุกดารหาร มีผู้ป่วยสะสม 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิด 636 รายไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม ค่อนข้างสบายใจได้และพ้นระยะฟักตัวที่เฝ้าระวังแล้ว
แต่ยังต้องมีการเฝ้าสังเกตการณ์แอนแทรกซ์ในปอด ที่มีระยะฟักตัวประมาณ 2 เดือน แต่ในขณะนี้ไม่มีผู้ที่แสดงอาการทางผิวหนังและในระบบทางเดินอาหาร ก็ค่อนข้างสบายใจได้ ค่อนข้างปลอดภัย ขณะที่ จังหวัดอื่นๆ พบผู้เข้าข่ายสงสัยป่วยแอนแทรกซ์ 15 ราย แต่ผลเป็นลบทั้งหมด
“มีแนวโน้มอาจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากในปี 2567 ที่ผ่านมามีรายงานสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม และ อินโดนีเซีย เราจึงต้องเฝ้าระวัง เลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ที่ไม่มีที่มา สัตว์ป่วยตาย และต้องปรุงสุกเท่านั้น ผู้ที่ชำแหละสัตว์ต้องป้องกันตัวเอง ใส่ถุงมือให้ดี หากมีประวัติสัมผัสสัตว์ที่ตาย แล้วเกิดอาการทางผิวหนังและระบบทางเดินอาหารให้พบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสียง” พญ.จุไร กล่าว
พญ.จุไร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดในปี 2568 ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 พฤษภาคม พบผู้ป่วยสะสม 328,103 ราย เสียชีวิต 33 ราย ผู้ป่วยยังเป็นกลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี แต่พบการเสียชีวิตมากในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง วัณโรคปอด และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ไปจนถึงผู้ที่ไม่มีประวัติรับวัคซีน ซึ่งอัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.01 เท่าเดิม
ส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากคือ สายพันธุ์เอ H1N1 รองลงมาเป็น สายพันธุ์บี และสายพันธุ์เอ H3N2 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภายหลังสงกรานต์ มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก และดูเหมือนมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ขอให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี, ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้, ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน, ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน และ หญิงตั้งครรภ์ เข้ารับวัคซีนได้จนถึงเดือนสิงหาคมนี้
พญ.จุไร กล่าวต่อว่า สำหรับสถานโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 พฤษภาคม มีผู้ป่วยสะสม 71,067 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย ต้องยอมรับว่าผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างมากชัดเจน แต่อัตราป่วยตายไม่ได้สูงขึ้น ข้อมูลก่อนสงกรานต์ วันที่ 1-10 เมษายน พบผู้ป่วยประมาณ 12,505 ราย พอหลังสงกรานต์พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 4-5 หมื่นราย และข้อมูลปัจจุบันก็อยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นราย
ขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว โดยร้อยละ 84 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจเช่น ปอดอักเสบ โดยสายพันธ์ที่พบมากที่สุดยังคงเป็น XEC เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้ก่อโรครุนแรงแต่แพร่กระจายเชื้อได้ดี
ทั้งนี้ อัตราการป่วยตายอยู่ที่ 0.03 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ผู้ที่มีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจต้องสวมหน้ากากอนามัย และเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสังคม เพื่อลดการแพร่เชื้อ