เมื่อวันที่ 15 พ.ค.68 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ โพสต์เฟซบุ๊ก "นายกรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij" ระบุ ว่าด้วยเรื่อง G-token: good or bad?
ปัจจุบันรัฐบาลสามารถกู้จากประชาชนได้ผ่านการขายพันธบัตรในแอ็ปเป๋าตังที่คนไทยกว่า 40 ล้านคนมีในโทรศัพท์
ประชาชนสามารถลงทุนได้ด้วยเงินเพียงแค่ 100 บาท คิดจะขายก็ขายได้ ต้นทุนของรัฐบาลในการออกพันธบัตรผ่านช่องทางนี้ตํ่ามาก ไม่น่าจะมีช่องทางไหนที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่านี้อีกแล้ว
คราวนี้รัฐบาลจะออกสิ่งที่เรียกว่า G-token แทน นั่นคือการกู้ผ่านการออกเหรียญคริปโตในระบบ blockchain นั่นเอง
จริงๆก็คือการ tokenise พันธบัตรรัฐบาลนั่นแหละ
ที่รัฐบาลบอกว่าไม่กระทบหนี้สาธารณะ ถ้าจะพูดให้ชัดขึ้นต้องบอกว่า ’ไม่กระทบมากกว่าถ้าออกเป็นพันธบัตร’ คือหนี้สาธารณะจะเพิ่มเท่ากัน นี่คือเพียงอีกวิธีที่จะกู้เงิน
ถามว่ากฎหมายให้ทำหรือไม่ รัฐบาลบอกว่าได้ มีบางคนออกมาบอกว่าไม่ได้ ส่วนตัวผมพูดได้แค่ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนรองรับโดยตรงเพราะตอนร่างกฎหมายยังไม่มีคริปโต แต่ผมก็ไม่เห็นว่าทำไมจะทำไม่ได้ ตราบใดที่ G-token นี้มีสถานะเหมือนเป็นพันธบัตร ซึ่งซื้อขายได้ แต่ใช้ในการชำระเงินไม่ได้
ปัญหาคือ พอมันเป็นเหรียญ มันก็สามารถถูกเอาไปใช้ชำระเงินได้ง่ายขึ้น รัฐบาลก็ควรต้องอธิบายว่ามีมาตรการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้คนไทยหรือต่างชาติใช้ G-token เสมือนเป็นเงินบาท (เพราะมีรัฐบาลคํ้าประกัน) สุดท้ายก็จะเป็นเงินอีกประเภทหนึ่งที่รัฐบาลเป็นคนออกหรือไม่? (หรือนั่นคือความตั้งใจ?) ต้องฟังความเห็นของแบงค์ชาติในประเด็นนี้
ถามว่าการเข้าถึง G-token โดยประชาชนจะสะดวกกว่าการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือไม่ คำตอบคือ ’ไม่‘ เพราะคนไทยยังคงจะมี digital wallet น้อยกว่าแอ็ปเป๋าตัง
ถามว่าแล้วรัฐบาลทำไปเพื่ออะไร ผมเชื่อว่าเหตุผลหลักคือต้องการเพิ่มความนิยมใน digital asset ในประเทศไทย พวก crypto exchange เช่น Bitkub หรือ Binance ต้องชอบเพราะทำให้มีสินค้าในตลาดของตนมากขึ้น และลูกค้าใหม่ก็อาจจะหันมาสนใจลงทุนใน Bitcoin หรือ digital asset ตัวอื่นๆมากขึ้นในอนาคต รัฐบาลก่อนหน้านี้อยากให้ประชนชนมีแอ็ปเป๋าตัง รัฐบาลนี้อยากให้มี digital wallet
ทั้งหมดนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ค่ากับคริปโตแค่ไหน และรัฐบาลจะสามารถป้องกันไม่ให้ G-token กลายเป็นเงินตรา ‘นอกระบบ’ หรือไม่