‘พิชัย’ นั่งหัวโต๊ะประชุมแบงก์รัฐ บี้ออกมาตรการอุ้มภาคธุรกิจรับมือพิษภาษีทรัมป์ทำแสบ หลังประเทศกดเศรษฐกิจฟุบหนัก 2 ปี เตรียมอัดซอฟท์โลนแสนล้านบาท ประคอง 3 กลุ่ม จ่อผุดมาตรการช่วยภาคเกษตร-อสังหาริมทรัพย์ บี้ลดดอกเบี้ยกู้ช่วยเต็มสูบ!
15 พ.ค. 2568 – นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวในการประชุมมอบนโยบายสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยภาคธุรกิจรับมือมาตรการภาษีสหรัฐฯ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล ว่า การเรียกประชุมสถาบันการเงินของรัฐในครั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ประเมินว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไม่มากไปกว่าประเทศอื่น แต่หากเตรียมมาตรการรองรับได้ดีก็อาจจะได้ประโยชน์ โดยประเมินว่าผลกระทบครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดอย่างน้อย 2 ปี โดยเฉพาะภาคการส่งออก
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐเร่งพิจารณาใน 2 ส่วน คือ 1. ให้ช่วยผู้ส่งออกโดยตรงที่ได้รับผลกระทบ และ 2. ให้พิจารณาแนวทางการให้ความช่วเยหลือไปถึงคู่ค้าของผู้ส่งออก หรือกลุ่มซัพพลายเชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยากให้เข้าไปดูแลช่วยเหลือว่ามีธุรกิจส่งออกอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกไปสหรัฐฯ รวมไปถึงธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่อาจจะทะลักเข้ามาจากต่างประเทศ
“อยากให้แต่ละแบงก์รัฐดูตามหน้าที่ของตัวเองว่าแต่ละธนาคารว่าจะเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง โดยในส่วนของรัฐก็จะมีมาตรการเสริมเข้ามาช่วยด้วย ทั้งในแง่ของงบประมาณ มาตรการ นโยบายที่จะเข้าไปเติมเต็มเศรษฐกิจ โดยนอกจากการหารือในวันนี้่ที่ต้องการเน้นในการให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกเป็นหลักแล้ว ก็อยากให้มองแนวทางการให้ความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวด้วย” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ในระยะต่อไปจะมีการหารือถึงผลกระทบกับกลุ่มแรงงานว่าจะสามารถรักษาตำแหน่งงานไว้ได้หรือไม่จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการหารือในการประชุมรอบต่อไป (เฟส2)
สำหรับที่ผ่านมาสถาบันการเงินของรัฐได้ให้ความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ผ่านการดำเนินการ 2 ส่วน คือ การปรับโครงสร้างหนี้ และการซื้อหนี้ ผ่านการจัดตั้ง AMC ซึ่งได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยปรับลดลงมา โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 90% ต่อจีดีพี และในการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในวันที่ 19 พ.ค. นี้ คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยจะลดลงมาอยู่ที่ 86% ของจีดีพี เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจไทยใหญ่ขึ้น
โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนที่เป็นหนี้เสีย (NPL) อยู่ 1.2 ล้านล้าน คิดเป็น 65% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด คิดเป็น 5.4 ล้านราย เป็นหนี้เสียที่มูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท คิดเป็น 3 ล้านราย โดยในส่วนนี้ธนาคารออมสินได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 5.4 แสนราย และมีแผนจะแก้ไขอีก 4 แสนราย ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แก้ปัญหาในส่วนนี้ไปแล้ว 2.5 แสนราย และมีแผนจะทำเพิ่มอีก 7 หมื่นราย ตรงนี้จะช่วยทำให้หนี้เสียในส่วนนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจำนวนวงเงินจะลดลงไม่เยอะ คิดเป็น 10% ของ NPL
“สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ที่ผ่านมาสถาบันการเงินก็ได้มีการเข้าไปคุยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ยกและลดหนี้ให้” นายพิชัย ระบุ
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อซอฟท์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อซอฟท์โลนโครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ, ธุรกิจซัพพลายเชน และธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาพรวม
ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจเอสเอ็มอี ซัพพลายเชน อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา