มธ.ชูแผนยุทธศาสตร์ใหม่ รับมือคนเรียนลด-โลกเปลี่ยนเร็ว
GH News May 19, 2025 04:44 PM

ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอดจนวิกฤตสิ่งแวดล้อมและอาหารในอนาคต มหาวิทยาลัยในฐานะกลไกสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์จึงต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงประกาศยุทธศาสตร์ “มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำแห่งอนาคต” (Leading Comprehensive University for Future Societies) เดินหน้าปฏิรูประบบการเรียนรู้ พัฒนาหลักสูตรทั้ง 19 คณะ 6 วิทยาลัย 2 สถาบัน รวม 298 หลักสูตร ให้เชื่อมโยงสหวิทยาการทั้งด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสุขภาพ พร้อมเปิดหลักสูตรใหม่ อาทิ จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และ Finance & Investment เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพที่มีทั้ง Hard Skills, Soft Skills และ Future Skills รองรับตลาดแรงงานอนาคตอย่างยั่งยืน

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำแห่งอนาคต ว่า ธรรมศาสตร์ไม่ได้มุ่งเป็นเพียงที่พึ่งของสังคมเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก ทั้งในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และโครงสร้างประชากร บทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบันจึงต้องก้าวข้ามกรอบของการถ่ายทอดความรู้ภายในห้องเรียน ไปสู่การเป็นสถาบันที่สามารถเตรียมคนให้พร้อมสำหรับอนาคตในทุกมิติ โดยมหาวิทยาลัยมีนักศึกษากว่า 40,000 คน การเตรียมความพร้อมทั้งด้านวิชาการและทักษะเสริมต่าง ๆ จึงต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้ยุทธศาสตร์นี้บรรลุเป้าหมาย มหาวิทยาลัยได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนผ่านสามแกนหลัก ได้แก่ 1.การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำแห่งอนาคต ด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์สังคมแห่งอนาคต ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้หลากหลายสาขา เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกับความต้องการแรงงาน รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพของอาจารย์ควบคู่กัน 2.การเป็นมหาวิทยาลัยของสังคม ด้วยการผลิตบัณฑิตที่สามารถคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ รวมถึงการผลักดันงานวิจัยที่มีศักยภาพให้นำมาใช้ได้จริง โดยเฉพาะงานวิจัยด้านผู้สูงอายุ

และ 3. การสร้างความสุขและความยั่งยืนให้กับประชาคมธรรมศาสตร์ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิด Outcome-Based Education (OBE) การยกระดับทักษะทั้ง Hard Skills และ Soft Skills รวมถึงการผลักดันการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) และการศึกษาร่วมกับภาคปฏิบัติ (Co-operative Education) ในทุกคณะ

ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างทักษะใหม่ให้กับแรงงาน โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต รายงานของ World Economic Forum ปี 2024 ระบุว่า การคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เป็นทักษะที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญมากที่สุดในปี 2025 คิดเป็น 68% รองลงมาคือ ความยืดหยุ่นและคล่องตัว67% และภาวะผู้นำและอิทธิพลทางสังคม 61% สะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะด้านความคิด การสื่อสาร และการปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ในอาชีพในกลุ่มเทคโนโลยีกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2025–2030 โดยเฉพาะ “ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Specialists) ที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่า 100% ตามด้วยวิศวกรฟินเทค(FinTech Engineers) และผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ยังมีอาชีพที่เติบโตควบคู่ เช่น นักพัฒนาแอปพลิเคชัน นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และวิศวกรพลังงานหมุนเวียน ขณะที่อาชีพดั้งเดิมจำนวนหนึ่งกำลังลดบทบาทลงอย่างชัดเจน

“อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจากอัตราการเกิดที่ลดลง เริ่มส่งผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของภูมิภาค ซึ่งต้องเผชิญกับจำนวนนักศึกษาที่ลดลงและพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น บางสถาบันเคยมีนักศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลือเพียงหนึ่งในสามหรือครึ่งเดียว หากไม่มีการปรับหลักสูตรหรือรูปแบบการเรียนให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ก็จะยิ่งได้รับแรงกดดันมากขึ้น ภายใน 5–10 ปีข้างหน้า หากไม่ปรับตัว มหาวิทยาลัยหลายแห่งอาจได้รับผลกระทบรุนแรง แต่หากสามารถเน้นคุณภาพ เข้าถึงและเข้าใจผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ก็ยังมีโอกาสรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว

รศ. ดร.ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล

 รศ. ดร.ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หัวใจของการยกระดับคุณภาพนักศึกษา คือ หลักสูตร โดยมีอาจารย์เป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจึงต้องผ่านกระบวนการวิจัยและวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เพื่อให้ตอบสนองทั้งความต้องการของนักศึกษาและตลาดแรงงานในอนาคต โดยเฉพาะการบูรณาการแนวทางการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary Learning) การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง (Experiential Learning) รวมถึงการออกแบบหลักสูตรร่วมกับภาคธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เริ่มทยอยปรับหลักสูตรตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 และตั้งเป้าใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2570

ภายใต้แนวคิด TU-IMPACT หมายถึง I – การทำงานและปรับตัวร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ, M – การปรับตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อพร้อมใช้ชีวิตในสังคม, P – การพัฒนาทักษะกระบวนการคิด, A – ความยืดหยุ่นในการเผชิญและรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ, C – ความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยี AI อย่างถูกต้อง ไม่เพียงแค่ใช้เป็น, T – การเข้าใจความเป็นพลเมืองโลกและรู้เท่าทันด้านการเงิน

รศ. ดร.ดำรงค์ กล่าวต่อว่า แผนการปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรีในปี 2570 จะเริ่มจากวิชาศึกษาทั่วไป โดยปรับลดหน่วยกิตจาก 30 เหลือ 24 หน่วยกิต และกำหนดให้จำนวนหน่วยกิตรวมอยู่ที่ 120–126 หน่วยกิต ซึ่งช่วยให้นักศึกษาสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 3 ปี (ยกเว้นหลักสูตรที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของสภาวิชาชีพ) ขณะเดียวกัน การฝึกงานช่วงซัมเมอร์ที่เคยใช้เวลาเพียง 2 เดือน จะขยายเป็นการฝึกงานเต็มภาคการศึกษา โดยร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างจริงจัง อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจเข้ามาร่วมสอน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และเน้นการใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่ดีควบคู่ไปด้วย

สำหรับการพัฒนาหลักสูตรใหม่ มหาวิทยาลัยมุ่งตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) อย่างน้อย 2–3 เป้าหมายในแต่ละหลักสูตร, หลักสูตรจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้นำอนาคต ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับใหม่ เพื่อเตรียมรับมือกับกระแส AI และเทคโนโลยีในอนาคต, หลักสูตร Finance & Investment ที่ครอบคลุมเนื้อหาจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ ทั้งด้านการเงินส่วนบุคคล การลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี การวางแผนภาษี ต้นทุนโอกาส และการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน

รศ. ดร.ดำรงค์ ย้ำว่า “อาจารย์” คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้อาจารย์ต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากลภายใต้กรอบ Professional Standard Framework (PSF) ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนระดับสูง โดยตั้งเป้าให้อาจารย์อย่างน้อย 100 คน ผ่านการรับรองในระดับ PSF 2+ ภายในปีงบประมาณ 2568–2570

ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี

ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและนิติการ กล่าวเสริมว่า นอกจากการส่งเสริมด้านวิชาการ ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมด้านจิตใจ จึงได้มีการเพิ่มทีมบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการ จากเดิมที่นักศึกษาต้องรอประมาณ 15 วันเพื่อพบจิตแพทย์แบบตัวต่อตัว ปัจจุบันเหลือเพียง 2 วัน และหากต้องการพูดคุยด่วน ก็สามารถใช้บริการผ่านคอลเซ็นเตอร์ได้เลย ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีนักศึกษาเข้ามาขอคำปรึกษาประมาณ 407 คน ตัวเลขไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมปีที่แล้วมากนัก แต่ระยะเวลารอคอยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บ่งชี้ว่ามีการปรับปรุงระบบได้ดีขึ้น

“การบริการด้านสุขภาพจิตไม่ได้มีแค่ในส่วนกลาง ซึ่งแต่ละคณะก็มีการจัดจ้างนักจิตวิทยาเพื่อให้คำปรึกษาเฉพาะทาง เช่น คณะแพทย์ วิทยาศาสตร์ พยาบาล ซึ่งมีความเครียดเฉพาะทางที่ต้องการความเข้าใจเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเรียน สำหรับการให้คำปรึกษาในระบบส่วนกลาง ข้อมูลจากการให้คำปรึกษาพบว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่นักศึกษาเข้ามาคุย คือ ความเครียดจากความสัมพันธ์ส่วนตัว การเรียน การปรับตัวในชีวิตประจำวัน และแรงกดดันจากครอบครัว ซึ่งนักจิตวิทยาของเราก็พร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่” ผศ.ดร.รณกรณ์ กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.