ผลิตอาหารปลา… สุดประหยัด ลดต้นทุน โดยขวัญจิรา สุวรรณ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ
การเลี้ยงปลา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพของเกษตรกรเพื่อสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน เลี้ยงง่าย สร้างรายได้งาม เพียงแค่เกษตรกรพอมีพื้นที่เล็กน้อยบริเวณข้างบ้านหรือไม่ไกลบ้านมากนัก แต่ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำจะเป็นบ่อน้ำ หรือลำคลองก็ดี เพราะการเลี้ยงปลาต้องอาศัยน้ำเป็นหลักที่สำคัญยิ่ง ปลาน้ำจืดเป็นที่นิยมในการเลี้ยงและเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคทั่วไป ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม และปลาชนิดอื่น ๆ เพราะสามารถนำปลาสดไปประกอบอาหารได้หลากหลายรูปแบบ หรือนำไปแปรรูปเพื่อการถนอมอาหาร เช่น ทำปลาแดดเดียว ปลาแห้ง และปลาส้ม ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกด้วย
ปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงปลาดุก ปลาหมอ ปลานิล ปลาสลิด ทั้งในบ่อซีเมนต์และบ่อดิน ซึ่งเลี้ยงได้เองแบบง่าย ๆ เกษตรกรบางรายเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวจึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง งานประมง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกหนึ่งหน่วยงานร่วมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ที่มีภารกิจแจกจ่ายพันธุ์ปลาน้ำจืดเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพการเลี้ยงปลาให้กับเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะปลานิลซึ่งเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และทนน้ำเปรี้ยว เหมาะสำหรับเลี้ยงเพื่อบริโภคและการจำหน่าย แต่เมื่ออาหารปลามีราคาที่สูงขึ้นทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เจ้าหน้าที่งานประมง ได้ส่งเสริมการผลิตอาหารปลาลดต้นทุนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงปลาให้กับเกษตรกร โดยปกติแล้วการเลี้ยงปลาก็จะมีต้นทุนหลักเป็นค่าอาหารถ้าหากเราทำการผลิตอาหารปลาใช้เองจะทำให้ลดต้นทุนเกษตรกรผู้เลี้ยงมีกำไรที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาใช้หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารปลา และมีราคาถูก เมื่อนำมาผลิตเป็นอาหารปลาแล้วก็จะมีราคาถูกกว่าอาหารสำเร็จรูปค่อนข้างมาก และจะช่วยเพิ่มผลกำไรในการเลี้ยงปลาได้อีกด้วย
สูตรอาหารปลาลดต้นทุน เจ้าหน้าที่งานประมง ได้คิดค้นวิธีการผลิตอาหารปลาลดต้นทุน ขึ้นพร้อมแนะนำให้เกษตรกรผลิตใช้เองที่บ้าน สะดวกและปลอดภัยไร้สารพิษเจือปน โดยใช้วิธีการ 2 รูปแบบด้วยกันคือ 1.วิธีการผลิตอาหารปลาแบบปั้นเป็นก้อน และ 2.วิธีการผลิตอาหารปลาแบบอัดเม็ด วัตถุดิบที่ใช้มีความใกล้เคียงกันมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมือนกัน แต่ขั้นตอนในการผลิตมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้ 1.วิธีการผลิตอาหารปลาแบบปั้นเป็นก้อน จัดเตรียมวัตถุดิบในการผลิตดังนี้ 1)กล้วย 4 ส่วน 2)รำละเอียด 4 ส่วน 3)ปลา ป่น 1 ส่วน 4)กากน้ำตาล 1 ส่วน วิธีทำให้นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เติมน้ำเปล่าเล็กน้อย นวดส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันและจับตัวกันเป็นก้อน หากอาหารแห้งไปไม่จับตัวกันให้เติมน้ำลงไปและนวดต่อเมื่ออาหารจับตัวกันได้ดีก็นำมาปั้นเป็นก้อน สามารถเอาไปใช้เป็นอาหารปลาได้เลย สำหรับอาหารประเภทนี้ก็จำเป็นจะต้องใช้ควบคู่กับยอให้อาหารปลา ส่วนรูปแบบที่ 2.วิธีการผลิตอาหารปลาแบบอัดเม็ด ให้จัดเตรียมวัตถุดิบในการผลิตดังนี้ 1)ปลาป่น 4 ส่วน 2)รำข้าว 2 ส่วน 3)ใบหม่อน 2 ส่วน 4)ปลายข้าว 2 ส่วน 5)กากน้ำตาลและน้ำมันพืช รวมกัน 5 ช้อนโต๊ะ วิธีทำให้นำวัตถุดิบทั้งหมดมาผสมให้เข้ากันและเข้าเครื่องอัดเม็ด หากวัตถุดิบยังไม่ละเอียดให้เข้าเครื่องบดอัดเป็นครั้งที่สอง จากนั้นก็นำเม็ดอาหารที่ได้ไปผึ่งลมให้แห้ง ก็สามารถนำไปเป็นอาหารปลาได้เลย โดยอาหารอัดเม็ดสามารถเก็บไว้ใช้งานมากกว่าอาหารปั้นก้อนได้เป็นสัปดาห์
ถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร หลังจากทำการผลิตอาหารปลาทั้ง 2 วิธีแล้ว เจ้าหน้าที่งานประมง ก็ได้นำความรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารปลาแบบลดต้นทุนไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรภายใต้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในบ่อดินเปรี้ยวที่ปรับปรุงแล้ว จำนวน 60 ราย เช่น บ้านพิกุลทอง บ้านเปล หมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ บ้านปีแนมูดอ บ้านโคกอิฐ-โคกใน บ้านกำแพง โดยในโครงการฯ ได้มีการฝึกอบรมพร้อมสาธิตขั้นตอนการผลิตอาหารปลาซึ่งเกษตรกรสามารถนำความรู้กลับไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้ และที่สำคัญ คือหลักการเลี้ยงปลาต้องมีการเตรียมบ่อ การจัดการคุณภาพน้ำ และการให้อาหารเสริมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของปลา ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชนิดของปลาที่เลี้ยงเพื่อให้การเลี้ยงปลาประสบความสำเร็จและคุ้มค่ามากที่สุด
งานประมง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ ด้านการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลา การแสดงพันธุ์ปลานานาชนิดในพื้นที่พรุ และสาธิตการผลิตอาหารปลาสูตรต่าง ๆ ให้แก่ผู้สนใจ
จึงขอเชิญเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติได้ หรือผู้ที่เลี้ยงปลาอยู่แล้วมีความสนใจในการผลิตอาหารปลาแบบลดต้นทุน ก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ขั้นตอนการผลิต หรือสามารถเข้ามาทดลองฝึกปฏิบัติผลิตอาหารปลาแบบลดต้นทุนได้ ตามวันและเวลาราชการ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่งานประมง โทรศัพท์ 073 535 062