ครม. ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.รฟม. ดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
GH News May 20, 2025 06:41 PM

ครม. ไฟเขียวแก้ พ.ร.บ.รฟม. ดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมลุยแก้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม คู่ขนาน เปิดทาง รฟม. กู้เงิน ก.คลัง ชดเชยรายได้ผู้รับสัมปทาน ด้าน ‘สุริยะ’  ยันเปิดใช้ ก.ย. 68 แน่นอน

20 พ.ค. 2568 – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (พ.ร.บ.รฟม.) ซึ่งการแก้ไข พ.ร.บ.รฟม. ดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ รฟม. โดยรัฐบาลนำมาเป็นตัวผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสีทุกเส้นทางให้เป็นจริงได้ภายในเดือน ก.ย.2568นี้ ซึ่งขั้นตอนหลังจากที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านการอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากนี้ตามขั้นตอนจะส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระ 1, 2, และ 3 ตามลำดับ กระทรวงคมนาคมคาดว่าจะทำให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการในส่วนนี้ได้ทันภายในเดือน ก.ย.2568นี้แน่นอน

ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนนโยบาย 20 บาทตลอดสายนั้นจะต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั๋วร่วมด้วย ซึ่งพ.ร.บ. ตั๋วร่วมฉบับปัจจุบันมีข้อจำกัดที่กองทุนภายใต้ พ.ร.บ. สามารถรับบริจาคได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถให้กู้ยืมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. ตั๋วร่วมด้วยเพื่อให้ รฟม.สามารถกู้ยืมได้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระ 2 โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าการแก้ไข พ.ร.บ. รถไฟฟ้าฯ และ พ.ร.บ. ตั๋วร่วม จะทำไปพร้อมกันเพื่อให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน เพื่อให้การดำเนินนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายเป็นไปอย่างราบรื่น

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในประเด็นการนำเงินสะสมของ รฟม. มาใช้ในการดำเนินนโยบาย 20 บาทตลอดสายนั้น เดิมที รฟม. เคยเสนอให้เก็บเงินรายได้ไว้ใช้เองทั้งหมด แต่กระทรวงการคลังไม่อนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบเดิมที่กำหนดให้รายได้ของ รฟม. ต้องส่งเข้ากระทรวงการคลังทั้งหมด สำหรับเงินสะสมของ รฟม. ที่มีอยู่ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท

“เมื่อรายได้ถูกส่งเข้าคลังและกลายเป็นรายได้แผ่นดิน การนำเงินมาใช้จะต้องเป็นไปตามกระบวนการจัดสรรงบประมาณ โดยกลไกที่กระทรวงการคลังจะนำเงินที่ รฟม. ส่งเข้าคลังไปปล่อยกู้ให้กับกองทุนภายใต้ พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ซึ่งกองทุนนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้กู้ แม้ผู้ให้ข้อมูลจะยอมรับว่าการกู้เงินจากคลังเพื่อนำมาใช้ตามนโยบายนี้จะทำให้บัญชีของ รฟม. ขึ้นเป็นหนี้ ซึ่งอาจเป็นความกังวลของหน่วยงาน แต่ก็เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้” นายสุริยะ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ตนยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นการกู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ยหรือไม่ โดยเน้นย้ำว่าภารกิจหลักคือการผลักดันนโยบาย 20 บาท ส่วนรายละเอียดทางการเงินเป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบริหารจัดการต่อไป ทั้งนี้ เป้าหมายเบื้องต้นของการใช้เงินสะสมก้อนนี้จะใช้สำหรับนโยบาย 20 บาทเป็นระยะเวลา 2 ปีแรก หลังจากนั้นจะพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ต่อไป เช่น การซื้อคืนสัมปทาน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.