.
นักวิจัยจากภาควิชาพฤกษศาตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้ศึกษาความหลากหลายของเทอริโดไฟต์ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย โดยเก็บตัวอย่างพรรณไม้ตามแนวเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พบเทอริโดไฟต์หลากหลายชนิด และจากการศึกษาในครั้งนี้ยังพบพรรณไม้ที่มีสถานภาพเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) ในประเทศไทย อีกทั้งยังพบชนิดที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในจังหวัดเลย รวมถึงพืชที่คาดว่าจะเป็น ‘เฟิร์น’ ชนิดใหม่ของไทยหรือของโลก!
.
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ในจังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 260 ถึง 1,316 เมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัดคล้ายรูปหัวใจ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่นี้ อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า และมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขาต่ำ ป่าละเมาะเขาต่ำ และป่าไม้ก่อ-ไม้สน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเทอริโดไฟต์มากแห่งหนึ่งในประเทศไทย
.
เทอริโดไฟต์ หรือ Pteridophyte คือ กลุ่มพืชมีท่อลำเลียงแต่ไม่มีเมล็ด มีราก ลำต้น และใบที่แท้จริง มีท่อลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ แบ่งออกเป็น 2 ไฟลัม ประกอบด้วย ไลโคไฟตา (Lycophyta) เช่น สามร้อยยอดและหางสิงห์ ที่สร้างสปอร์ซึ่งมีขนาดเดียวกันทั้งหมด รวมถึงตีนตุ๊กแกกับกระเทียมน้ำ ที่มีการสร้างสปอร์ขนาดที่แตกต่างกัน และไฟลัมเทอโรไฟตา (Pterphyta หรือ Monilophyta) เช่น หญ้าถอดปล้อง หวายทะนอย รวมถึงกลุ่มของเฟิร์น
.
และจากการสำรวจเก็บตัวอย่างเทอริโดไฟต์ 288 ตัวอย่าง พบเทอริโดไฟต์ จำนวน 125 ชนิด แบ่งเป็น ไฟลัมไลโคไฟตา จำนวน 14 ชนิด และเทอโรไฟตา จำนวน 111 ชนิด และจากการศึกษาพบว่าสภาพพื้นที่ที่มีความชื้นสูงและมีอุณหภูมิต่ำ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเทอริโดไฟต์ ส่งผลให้ถิ่นอาศัยลักษณะแบบนี้สามารถพบจำนวนชนิดของเทอริโอไฟต์ได้มากขึ้น
.
การศึกษานี้ยังพบพืชที่รายงานเป็นพืชถิ่นเดียวของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ Asplenium siamense, Dryopteris rheophila และ Elaphoglossum dumrongii พืชทุกชนิดนี้ ขึ้นอาศัยในบริเวณที่จำกัดและพบได้ตามแนวเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกทำลายได้ง่ายโดยนักท่องเที่ยว จึงเป็นข้อควรระวังและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดูแลและอนุรักษ์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพรรณไม้อื่น ๆ และระบบนิเวศโดยรอบ
.
อีกทั้งยังพบพืชชนิดที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในจังหวัดเลย เช่น กูดเปี๊อย Athyrium cumingianum, เฟิร์นแผง Selaginella involvens และ เฟิร์นแม่ลูกอ่อน Tectaria simonsii เป็นต้น
.
รวมถึงการศึกษาครั้งนี้ยังพบเฟิร์นที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ด้วยเอกสารทางพฤกษอนุกรมวิธานที่ใช้ในปัจจุบัน จำนวน 3 ชนิดได้แก่ Selaginella sp., Asplenium sp. และ Oleandra sp. ที่คาดว่าน่าจะเป็นพืชชนิดใหม่ของไทยหรืออาจเป็นชนิดใหม่ของโลก จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
.
ปัจจุบันความหลากหลายของเทอลิโดไฟต์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากไฟป่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า หรือการท่องเที่ยว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เทอริโดไฟต์บางชนิดสูญหายไปจากพื้นที่ จึงควรมีการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ รวมถึงชุมชนในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนสามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป และสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนได้
.
.