เมื่อนึกถึงอ.บางละมุง จ.ชลบุรี ภาพแรกในหัวของหลายคนคงหนีไม่พ้นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังอย่างพัทยา ที่เต็มไปด้วยสีสันและความคึกคักไม่เคยหลับใหล แต่ถ้าเราลองเลี้ยวออกจากถนนสายหลักมาอีกนิด ใน ต.ห้วยใหญ่ ยังมีมุมเงียบสงบที่น่าหลงใหลอย่าง “ชุมชนบ้านชากแง้ว” ที่นี่เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่กลิ่นอายวัฒนธรรมจีนและไทยหลอมรวมกันอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนไม้เก่า อาหาร หรือแม้แต่รอยยิ้มของผู้คน ที่ชวนให้เราหลงเสน่ห์ที่นี่ได้อย่างง่ายดาย
ทริปนี้เราได้มีโอกาสร่วมเดินทางมากับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แบบวันเดย์ทริป มุ่งหน้าไปยังชุมชนบ้านชากแง้ว หนึ่งในชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชน ยลวิถี ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นชุมชนจีนโบราณมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี เริ่มต้นจากกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลอพยพมาตั้งรกราก ทำการเกษตรและค้าขาย สะท้อนร่องรอยความรุ่งเรืองผ่านบ้านเรือนไม้เก่า ศาลเจ้าจีน และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ยังคงหลงเหลืออยู่
คำว่า “ชากแง้ว” เชื่อกันว่าเป็นการเพี้ยนเสียงมาจากชื่อเดิมของ หนองชะแง้ว ตามหลักฐานที่พบในนิราศเมืองแกลงที่สุนทรภู่ได้เขียนไว้ระหว่างการเดินทางจากพระนครกลับมาบ้านเกิดที่อ.แกลง จ.ระยอง ในปี 2350 ความว่า ถึงปากช่องหนองชะแง้วเข้าแผ้วถาง แม้นค่ำค้างอรัญวาได้อาศัย
จุดหมายแรกมุ่งหน้าสู่ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ศาลอาม๊าชากแง้ว ศาลเจ้าเล็ก ๆ ในชุมชนที่อบอวลไปด้วยความศรัทธา ศาลแห่งนี้ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในพื้นที่ เพราะมีความเชื่อว่าเจ้าแม่ทับทิมคือเทพผู้คุ้มครองยามออกทะเล และบันดาลฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ช่วยให้การทำมาหากินของชาวบ้านราบรื่น
แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าองค์เจ้าแม่มีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่เรื่องเล่าที่ส่งต่อกันมาบอกว่าเมื่อราว 100 ปีก่อน มีชาวประมงพบไม้ท่อนหนึ่งลอยอยู่กลางทะเล จึงนำกลับมาแกะสลักเป็นรูปเจ้าแม่ทับทิม นับแต่นั้นมาก็มีการเคารพบูชาอย่างต่อเนื่อง ทุกปีที่นี่จะจัดงานเทศกาลไหว้เจ้าแม่อย่างยิ่งใหญ่ มีทั้งพิธีประทับทรง เทกระจาด และกิจกรรมมากมายที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ยังคงได้รับการสืบทอดอย่างอบอุ่นจากรุ่นสู่รุ่นวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองชากแง้ว
เรามาต่อกันที่วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองชากแง้ว บ้านหลังเล็กๆ ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ ประกอบอาชีพ การเผาถ่าน เมื่อเดินลึกเข้าไปในสวนเป็นที่ตั้งโรงเผาถ่านของครอบครัว สุชาติ บุญส่ง ชายวัยกลางคนที่ยังคงดำเนินอาชีพนี้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นทวด และยังสะท้อนให้วิถีของชุมชนแห่งนี้ที่ยังคงมีการเผาถ่านเป็นอาชีพ
วันเวลาผ่านไป อาชีพเผาถ่านก็เติบโตควบคู่กับครอบครัวนี้จนกลายมาเป็นอาชีพหลัก และปัจจุบันได้พัฒนาถ่านธรรมดาให้กลายเป็นถ่านอัดแท่ง และต่อยอดมาเป็นถ่านดูดกลิ่น รูปสัตว์ รูปผลไม้ ยังมีการเติมสีสันลงไปอย่างประณีต ที่ดูน่ารักแถมน่าใช้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแช่เท้าจากลูกบอลสมุนไพร การร้อยลูกปัด ให้ทำอย่างสนุกสนาน
เมื่อได้เวลาแดดร่มลมตก ก็ได้เวลาเดินทางมาที่ตลาดจีนโบราณบ้านชากแง้ว ไฮไลต์ของการมาเยือนที่นี่ ถนนสายเล็กๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ เปิดทุกเย็นวันเสาร์ และมีอายุครบ 10 ปีแล้ว ผู้คนหลากหลายวัยเดินเรียงรายกันอย่างคึกคัก บ้างจูงมือกันเดิน บ้างแวะถ่ายรูป บ้างยืนต่อแถวรอชิมอาหารพื้นถิ่นอย่างอารมณ์ดี ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของอาคารไม้แบบจีนโบราณที่เรียงรายมากกว่า 300 หลัง บางหลังถูกปรับปรุงให้เป็นร้านค้า คาเฟ่ หรือพิพิธภัณฑ์ แต่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน
ร้านอาหารน่าทานหลากหลายเมนู บ้างร้านเป็นสูตรโบราณของบรรพบุรุษที่ส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ยังคงความอร่อยเช่นเดิม อาทิ ฮ่อยจ๊อ หมูหยอง ขนมเปี๊ยะ กระเพาะปลา หมี่กรอบ หอยทอด ก๋วยเตี๋ยวปลา เป็ดไก่พะโล้ กวยจั๊บ ขนมเบื้องญวน บ๊ะจ่าง ห่อหมกปลาช่อนนา และขนมกุยช่าย ยังมีไฮไลต์ของที่นี่ที่น่าสนใจ เดินมาถึงบ้านหลงชากแง้ว นักท่องเที่ยวหลายคนแวะหยุดหน้าเรือนไม้สองชั้น ฟังเสียงดนตรีจีนที่บรรเลงคลอเบา ๆ พร้อมชมข้าวของโบราณที่จัดแน่นในบ้านหลังนี้ เดิมคือร้านโชห่วยเก่าแก่ชื่อ ตั้งเซ่งฮง ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชนที่บอกเล่าเรื่องราวของบ้านชากแง้วในยุคก่อน
เดินต่อมาท่ามกลางผู้คนที่ทยอยเข้ามามากขึ้นทุกที ก็จะพบกับโรงงิ้ว จุดนัดพบสำคัญของชุมชนในอดีต และยังเป็นสถานที่จัดแสดงงิ้วทุกปี ตรงหัวมุมฝั่งตรงข้าม คือ บ้านเป็ดมาเลย์ ร้านก๋วยเตี๋ยวและาหารหลากหลายเมนูในบ้านไม้สีฟ้าสดใสที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งกำลังยืนเลือกเมนู ขณะอีกหลายคนนั่งทานอาหารอยู่ใต้ถุนบ้าน ฝั่งตรงข้ามข้างโรงงิ้ว เพิ่งสังเกตเห็นว่ามีภาพวาดสตรีทอาร์ตที่สีสันสดใสดูน่ารักมากๆ
พอเดินมาสักพักจะได้ยินเสียงกระดิ่งดังขึ้น คือเสียงขอทางของรถราก สะท้อนกลิ่นอายของความเป็นจีน แถมนักท่องเที่ยวยังได้ลองนั่งอีกด้วย มาถึงบ่อน้ำโรงเตี้ยม แทบทุกบ้านในตลาดซากแล้วมีบ่อน้ำทั้งใหญ่ และ เลิกอยู่ เนื่องจากในสมัยโบราณทุกคนต้องใช้น้ำ จากแหล่งน้ำรรวมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง และบ่อน้ำที่ขุดขึ้นเอง บ่อน้ำที่จุดนี้เป็นแบบจําลองมาจากบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของหมู่บ้านที่เล็กกว่าขนาดจริงมาก
บ่อนี้ขุดขึ้นมาเพื่อใช้ในกิจการโรงแป้งของอาแป๊ะแชร์ ซึ่งต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้ก้อนหินใหญ่ๆ วางเรียงขึ้นมาเป็นชอบบ่อ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร ในฤดูฝนมีน้ำเต็มถึงปากบ่อ ขนาดของปากบ่อกว้างพอที่สามารถให้คนไปยืนเรียงกันได้ถึง 30-40 คน เจ้าของบ่อใจคือนุญาตให้คนที่ไม่มีน้ำ สามารถมาดักน้ำที่ปอนี้ได้ จึงถือว่าเป็นจุดนัดพบ นัดหมาย พูดคุยกันของคนในชุมชนอีกหนึ่งจุดในสมัยนั้น
หากมองไปอีกฝั่งจะพบตรอกโรงยา ตอนนี้กลายเป็นมุมถ่ายรูป เพราะมีภาพวาดจีนสวย ๆ ประดับบนผนังปูน ในอดีตบริเวณตรอกโรงยาจะมีบ้านอยู่ไม่กี่หลัง เป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ราย ล้อมไปด้วยต้นไม้หลายชนิด กอไผ่ และต้นมะม่วงใหญ่มาก ผู้คนจะใช้ที่นี่เป็นเส้น ทางเดินลัดเลาะกันภายในชุมชน มีโรงฝิ่นของอาแป๊ะที ตั้งอยู่ใกล้ๆ กอไผ่ ซึ่งอาแป๊ะที เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณนี้เปิดโรงฝิ่นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480 เพื่อบริการให้แก่คนจีนในชุมชนซึ่งนิยมสูบฝิ่นเพื่อการผ่อนคลายและพักผ่อนหลังจากทำงานในชีวิตประจำวัน
โรงฝิ่นนี้เป็นที่พบปะพูดคุยกันของชาวจีนในชุมชน โดยเปิดให้บริการอยู่นานพอสมควร ต่อมาในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มี การประกาศให้เลิกสูบฝิ่นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2502 จึงมีคนใช้บริการ น้อยลง และหลังจากนั้นราว 1-2 ปี โรงฝิ่นจึงปิดตัวลง การสูบฝิ่นจึงหมดไปจาก พื้นที่ชุมชนบ้านหนองชากแง้ว
เสน่ห์ของถนนคนเดินที่นี่ จะมีตั้งกฎกติการ่วมกันที่ชุมชนยอมรับ คือ จะไม่เปิดโอกาสให้คนนอกพื้นที่เข้ามาค้าขาย และจะขายสินค้าและอาหารชุมชนเท่านั้น เพื่อให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บอกเลยว่าวันเดย์ทริปที่ชุมชนบ้านชากแง้วทั้งอบอุ่นและประทับใจจนวางแพลนกลับมาเที่ยวซ้ำแน่นอน