รวบพ่อ-ลูก รับจ้างขนยาไอซ์คาด่านตรวจ ยึดไอซ์ กว่า 50 กก. พ่อสารภาพได้ค่าจ้างเที่ยวละ 4.5 หมื่นบาท ส่วนลูกโอดถูกพ่อหลอกมาขนยา
วันที่ 20 พ.ค.68 พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล. พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ป. สั่งการ พ.ต.ท.ปิยะพร เรียนสุทธิ์ สว.ส.ทล.4 กก.7 บก.ทล. พ.ต.ท.ธีระพงษ์ คงเขียว สว.กก.5 บก.ป.นำกำลังจับกุม นายสาบรี อายุ 47 ปี และนายฟิตตรี อายุ 19 ปี พร้อมของกลางไอซ์ น้ำหนัก 50 กิโลกรัม,รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่น ซีอาวี สีเทา ทะเบียนกรุงเทพมหานคร ,รถยี่ห้อฮอนด้า รุ่น Accord สีขาว ทะเบียน กรุงเทพมหานคร และโทรศัพท์ มือถือ จำนวน 2 เครื่อง ได้จุดตรวจ ทล. 41 หน่วยบริการประชาชนตำรวจทางหลวง ทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้ง ว่ามีเครือข่ายยาเสพติดทางภาคใต้จะลำเลียงยาไอซ์ จากภาคเหนือเพื่อนำไปขายให้กับลูกค้าในพื้นที่ โดยใช้รถยนต์จำนวน 2 คัน จึงนำกำลังตั้งจุดสกัดตามถนนทางหลวงหมายเลข 41 ต.นาโพธิ์ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช (ขาล่องใต้) ก่อนพบรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่น ซีอาวี สีเทา และ รถยี่ห้อฮอนด้า รุ่น Accord สีขาว ขับขี่มาบริเวณจุดตรวจ จึงเรียกตรวจสอบ พบทั้งสองมีท่าทีพิรุธ เมื่อตรวจค้นพบยาไอซ์ จำนวน 50 ห่อ น้ำหนัก 50 กิโลกรัม อยู่ในถุงชา
สอบสวน นายสาบรี สารภาพว่า รับจ้างขนยาไอซ์ได้ค่าจ้าง 45,000 บาท โดยไปรับยาจากพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เตรียมนำไปส่งในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทำมาแล้ว 2 ครั้ง
ด้าน นายฟิตตรี ให้การภาคเสธว่า นายสาบรี ผู้เป็นพ่อชวนขับรถไป จ.เชียงราย ขากลับให้ตนทำหน้าที่ขับนำหน้า และบอกว่าหากพบด่านตำรวจให้โทรแจ้งด้วย อย่างไรก็ตามคิดเพียงว่าพ่อแค่เสพยาที่ให้โทรแจ้งเพราะกลัวด่านตรวจปัสสาวะเท่านั้น ไม่คิดว่าจะรับจ้างขนยาเสพติด
เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนหรือไอซ์) ไว้ในความครอบครองอันเป็นการกระกระทำเพื่อการค้า และก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนฯ ” และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม นายสาบรี ข้อหา “ขับรถในขณะเมาเมทแอมเฟตามีน ก่อนนำตัวพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
รายงานว่า การจับกุมดังกล่าว เป็นปฏิบัติการ “Fast74 เร็ว แรง ลับ ลวง พลาง” ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหากลุ่มนี้ มีการกระทำเป็นกระบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน ทั้งส่งรถนำ เคลียร์เส้นทาง ใช้รถที่มีศักยภาพ ใช้ความเร็วสูง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ติดตามประกบ พบว่าผู้ต้องหามีการใช้ความเร็วบางจุดถึง 170 กม./ชม. เจ้าหน้าที่จึงต้องวางแผนอย่างรัดกุม มีการใช้แผนการล่อลวงให้ผู้ต้องหาตายใจ ก่อนจะใช้กลยุทธ์เฉพาะตัวของตำรวจทางหลวง ในการตามจับกุมไว้ได้ในที่สุด