พรรคประชาชนร่วมเปิดเทศกาล Pride Month ที่เชียงใหม่ รณรงค์ยุติอาชญากรรมด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง (Hate Crime) ต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ
.
ช่วงเย็นวันนี้ (25 พ.ค. 2568) ที่จังหวัดเชียงใหม่ พรรคประชาชน นำโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย สส.เชียงใหม่ของพรรค ได้แก่ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู, การณิก จันทดา, และณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ร่วมขบวน “Chiang Mai Pride 2025” เพื่อเฉลิมฉลองให้กับความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเริ่มต้นเดินขบวนจากบริเวณหน้าพุทธสถาน ผ่านถนนท่าแพ ไนท์บาซาร์ และไปสิ้นสุดบริเวณประตูท่าแพ
.
เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกของไทยที่จัดขบวนไพรด์ในปีนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นเปิดเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายและความเท่าเทียมไปด้วยกัน โดยในปีนี้ พรรคประชาชนขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันรำลึกถึงเหตุการณ์ “เสาร์ซาวเอ็ด” หรือเหตุการณ์ความรุนแรงจากความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2552 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เหตุการณ์วันนั้นไม่ใช่เพียงการต่อต้าน แต่คือการล้อม ปิดกั้น ข่มขู่ และเพิกเฉยจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นอาชญากรรมด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง (Hate Crime) ที่ยังคงฝังรากลึกในความทรงจำของเชียงใหม่และของประเทศ
.
อาชญากรรมด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง (Hate Crime) คือการกระทำผิดกฎหมายที่มีแรงจูงใจจากความเกลียดชังหรืออคติต่อกลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมักเกิดจากลักษณะเฉพาะของเหยื่อ เช่น เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สัญชาติ ศาสนา เพศ รสนิยมทางเพศ หรือความพิการ โดยปัจจุบันเรายังพบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้าข่าย Hate Crime อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือการฆาตกรรมชำแหละร่างกายคนข้ามเพศอย่างโหดเหี้ยมทารุณที่พัทยา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นข่าวครึกโครมเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ประเทศไทยได้เดินหน้ารับรองสมรสเท่าเทียมในทางกฎหมายแล้ว แต่กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังคงต้องต่อสู้กับกำแพงแห่งอคติที่ยังคงเกาะกุมจิตใจคนบางกลุ่มในสังคมอยู่หลายแง่มุม
.
ทั้งนี้ จากรายงานของ Transgender Europe พบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการบันทึกเหตุฆาตกรรมบุคคลข้ามเพศอย่างน้อย 320 รายใน 30 ประเทศทั่วโลก โดยกว่า 96% ของเหยื่อเป็นหญิงข้ามเพศ ขณะที่ในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่ามีผู้หญิง เด็ก และบุคคลข้ามเพศถูกใช้ความรุนแรงมากกว่า 30,000 คนต่อปี โดยเฉพาะหญิงข้ามเพศที่มีแนวโน้มจะเผชิญความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า
.
เชียงใหม่เคยเป็นภาพสะท้อนของความเกลียดชังที่รัฐไม่กล้าแตะ แต่วันนี้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่เปล่งเสียงเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ดังที่สุดเมืองหนึ่ง โดยขบวนของพรรคประชาชนมาในธีม “No Place for Hate Crime” หรือ “ไม่มีพื้นที่สำหรับอาชญากรรมด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง” เพื่อยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศทุกคน
.
ดังนั้น พรรคประชาชนขอเสนอให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายและร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้พรรคประชาชนพร้อมแล้วที่จะเสนอร่างประกบในสภาฯ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกพรรคจะเปิดโอกาสให้สภาฯ สร้างความหวัง ให้ความเท่าเทียมที่ปลอดภัยเป็นความจริงในเร็ววัน
.
วันนี้เชียงใหม่เปิดแล้ว จังหวัดอื่นๆ ก็พร้อมแล้วเช่นกัน เตรียมพบกับขบวน Pride Month สุดยิ่งใหญ่อลังการได้ที่กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดทั่วประเทศตลอดทั้งเดือนหน้า พวกเรามาร่วมกันเฉลิมฉลอง พร้อมเดินหน้าต่อให้กับความรัก ความหลากหลาย และการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับทุกคน