จากเยาวชนต้นแบบสู่นักเปลี่ยนแปลงสังคม นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ หนึ่งในผู้ปลุกปั้น “สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย” ทำงานสร้างเสริมสุขภาพเยาวชนมากว่า 15 ปี
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ หรือ “อัพ” อายุ 30 ปี จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กำลังศึกษาระดับปริญญาโทในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาครัฐและเอกชน (M.P.A) มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ โดยมีพี่ชายฝาแฝด นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ หรือ “แอ๊ท” ผู้เคยปรากฏเป็นข่าวได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทยด้วยวัย 25 ปี บริหารศูนย์การเรียนเซนต์ยอห์นบอสโก
อัพ พชรพรรษ์
“อัพ” เริ่มต้นทำกิจกรรมตั้งแต่อยู่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยร่วมเป็นแกนนำรณรงค์ภายใต้โครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาปฏิบัติงานช่วยเหลือวิกฤตมหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2554 กระทั่งได้มาร่วมงานกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ปัจจุบันคือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะผู้จัดการโครงการจัดสมัชชาการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน รับฟังความคิดเห็นของนักเรียนทั่วประเทศเพื่อนำข้อมูลไปสะท้อนปัญหาหรือนำข้อคิดเห็นส่งไปยังรัฐบาล รวมถึงเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษา ขอให้เพิ่มรายวิชาทักษะชีวิต และร่วมสนับสนุนให้เกิดการประเมินคุณภาพการศึกษาอย่างครอบคลุม
ในปี 2555 อัพเป็นหนึ่งในเยาวชนผู้ปลุกปั้น “เครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร” ก่อนที่ในปี 2560 เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศ ไทย” (ยท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงาน 5 ด้านสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของเยาวชน หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดคือ “การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน”
“อัพ” ในฐานะเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศ ไทยคนแรกและคนปัจจุบัน ผลักดันมาตรการสำคัญต่างๆ มากมาย เช่น มาตรการ ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาดร่วมกับกรุงเทพ มหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดทำมาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำงานร่วมกับนักร้องหรือศิลปิน เพื่อร่วมรณรงค์เรื่องบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง จนสังคมไทยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว รวมถึงได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี ส่งผลให้เมื่อปี 2567 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยได้รับรางวัล World No Tobacco Day Award 2024 จากองค์การอนามัยโลก (WHO)
ปี 2568 ในโอกาสก้าวเข้าสู้ปีที่ 15 ของสถาบัน ยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และผลักดันจัดตั้งเป็น “มูลนิธิสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย” “อัพ” คาดหวังเป็นองค์กรสำคัญในการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชน ทั้งการตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา จัดตั้งสถานบริการให้คำปรึกษาสุขภาพ การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บริการเลิกบุหรี่ และบริการให้คำปรึกษาสุขภาพจิตของเยาวชน