VC มองหาอะไรในสตาร์ตอัพปี 2025 สัญญาณใหม่ในโลกการลงทุน
GH News June 30, 2025 09:43 PM

หากคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพไทยในปี 2025 บทความนี้จะช่วยให้คุณได้อัพเดตมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจของวงการสตาร์ตอัพครับ

กองทุน หรือบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capitalist หรือ VC) ไม่ได้มองแค่โมเดลธุรกิจที่ดูน่าสนใจหรือการเติบโตที่หวือหวาอีกต่อไป พวกเขามองหาสิ่งที่ลึกกว่านั้นครับ เช่น ความยั่งยืน ความเข้าใจในตลาด ความสามารถในการขยายจริง และทีมที่พร้อมเดินระยะยาวไปด้วยกัน

มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?

ข้อมูลจาก PitchBook (2024) ระบุว่า แม้เม็ดเงินลงทุนทั่วโลกในไตรมาสแรกของปี 2025 จะยังสูงถึง 4.6 ล้านล้านบาท แต่จำนวนดีล (จำนวนสตาร์ตอัพที่ได้รับเงินทุน) กลับลดลงกว่า 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บรรดา VC เริ่มกลับมาพิจารณาอย่างเข้มงวดว่า ธุรกิจเหล่านี้สามารถอยู่รอด เติบโต และสร้างผลตอบแทนได้จริงหรือไม่ แทนที่จะให้ความสำคัญเพียงกับศักยภาพในการเร่งการเติบโต (scale)

รายงานจาก Bessemer Venture Partners (2024 Cloud Index) ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มใหม่กำลังเกิดขึ้นในวงการสตาร์ตอัพ นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นกับบริษัทที่มีค่า “Rule of 40” สูงกว่า 40 ซึ่งค่านี้ คือผลรวมของอัตราการเติบโต (%) กับอัตรากำไร EBITDA (%) โดยสะท้อนถึงความสามารถในการเติบโตควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ต่างจากในอดีตที่นักลงทุนมักให้ความสำคัญแค่ยอดขายหรือรายได้ที่เติบโตเร็ว (top-line growth) เพียงอย่างเดียว

เมื่อพูดถึง AI แม้จะยังครองสัดส่วนสูงในดีลระดับโลก แต่ปี 2025 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ VC ไม่ได้มองแค่ว่า “ใครใช้ AI” แต่เริ่มให้ความสำคัญกับ “AI ถูกนำไปใช้ทำอะไร” แทน

เมื่อกลางปี 2025 Helsing สตาร์ตอัพสัญชาติเยอรมัน ซึ่งพัฒนา AI สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลภาคสนามในภาคการทหาร ปิดรอบ Series D ได้ถึงกว่า 25,300 ล้านบาท การลงทุนครั้งนี้นำโดย Prima Materia ของ Daniel Ek ผู้ก่อตั้ง Spotify ร่วมด้วยนักลงทุนรายใหญ่อย่าง General Catalyst, Lightspeed, Accel และ SAAB ส่งผลให้มูลค่าบริษัทพุ่งแตะประมาณ 506,000 ล้านบาท ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี

ด้าน Pano AI สตาร์ตอัพสัญชาติอเมริกัน ที่ใช้ edge-AI ตรวจจับไฟป่าแบบเรียลไทม์ในพื้นที่ห่างไกล เพิ่งระดมทุนรอบ Series B ได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยมี Giant Ventures เป็นผู้นำการลงทุน ร่วมกับ Initialized Capital, Salesforce Ventures และ Tokio Marine Future Fund

กรณีของ Helsing และ Pano สะท้อนให้เห็นว่า VC ในยุคนี้ไม่ได้มองหาแค่ “เทคโนโลยีล้ำสมัย” แต่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงระบบต่อโลกจริง ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง การจัดการภัยพิบัติ หรือการเชื่อมโยงกับนโยบายสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม

ฝั่ง Climate Tech ก็น่าสนใจเช่นกัน บริษัทอย่าง Charm Industrial (สตาร์ตอัพสัญชาติอเมริกัน) ใช้เทคโนโลยี pyrolyzers เปลี่ยนของเสียจากเกษตรเป็น bio oil แล้วฉีดเก็บถาวรใต้ดิน มีสัญญากับองค์กรใหญ่อย่าง Frontier และ JPMorgan Chase สำหรับการกักเก็บคาร์บอนกว่า 140,000 ตัน

ในเดือนมิถุนายน 2023 บริษัทระดมทุนรอบ Series B มูลค่า 3,650 ล้านบาท จาก General Catalyst พร้อมด้วย Lowercarbon Capital, Exor Ventures, Kinnevik และ Thrive Capital

ทีมงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ แต่มีความชัดเจนขึ้น

ในแง่ของทีมผู้ก่อตั้ง สื่อใหญ่อย่าง The Wall Street Journal และ The Information รายงานตรงกันว่า ผู้ที่เคยทำงานในองค์กรใหญ่ หรือเคยเป็น operator จะมีโอกาสระดมทุนได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน เพราะนักลงทุนมองว่าคนกลุ่มนี้เข้าใจทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการทำธุรกิจจริง

นอกจากนี้ ความสามารถในการเล่าเรื่อง (narrative building) ก็กลายเป็นอีกปัจจัยที่ VC ให้ความสำคัญมากขึ้นในปี 2025 โดย Karpathy จาก OpenAI เคยกล่าวว่า ผู้ก่อตั้งที่สามารถเล่าให้ VC เห็นว่าเทคโนโลยีของตนนั้นไม่ใช่แค่ “ใช้งานได้” แต่เป็นสิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” (inevitable) จะสร้างแรงเชื่อมั่นได้มากกว่า ทั้งในมุมของอารมณ์และกลยุทธ์ธุรกิจ

อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจับตาคือ CVC หรือ Corporate Venture Capital

กลุ่มนี้คือการลงทุนของบริษัทใหญ่ที่ใช้เงินจากองค์กรแม่ เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพ โดยไม่ได้มองแค่ผลตอบแทนทางการเงิน แต่เน้นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของตนเองในระยะยาว

ในปี 2025 บทบาทของ CVC เริ่มชัดเจนและเป็นเชิงกลยุทธ์มากขึ้น ตัวอย่างเช่น Google Ventures ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนของ Alphabet นำเงินลงทุนกว่า 31,400 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นลงทุนด้าน AI, biotech และ cloud infrastructure เป็นผู้นำรอบลงทุนใหญ่หลายครั้ง เช่น 4,560 ล้านบาท ในบริษัทด้าน biotech หรือ 3,650 ล้านบาท ในบริษัท legal-tech

J&J Innovation (JJDC) เป็นหน่วยลงทุนของ Johnson & Johnson โดยในปี 2025 ตัวเลขล่าสุดแสดงว่า JJDC ลงทุนเฉลี่ยรอบละ ประมาณ 1,130 ล้านบาทต่อดีล โดยลงในดีลระดับ Series A และ B ซึ่งสนับสนุน
สตาร์ตอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มขยายธุรกิจ ตัวอย่างล่าสุด ได้แก่ การลงทุนใน PAQ Therapeutics อีกประมาณ 1,400 ล้านบาท ในช่วงต้นปี 2025

VC ปี 2025 ไม่ได้มองหาแค่สตาร์ตอัพที่เติบโตได้ แต่ต้องเติบโตอย่างรู้ทิศทาง

ปี 2025 ไม่ใช่ปีแห่งการ “เร่งโต” แต่คือปีแห่งการ “รู้จักโตอย่างมีทิศทาง” ซึ่งปัจจุบัน VC นิยมธุรกิจที่พิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาในโลกจริงได้ ควบคุมต้นทุนได้ และมีแผนการใช้เงินลงทุนที่ชัดเจน

สำหรับผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพไทย บทเรียนสำคัญคือ

เลิกคิดว่าต้องโตให้เร็วที่สุด แต่ต้องคิดว่าจะ “อยู่รอดแม้ไม่มีทุน” ได้ไหม แนวคิดนี้ทำให้ผู้ก่อตั้งต้องกลับมาทบทวน unit economics ของตัวเองให้ชัดเจน กำหนดเป้าหมายการเติบโตที่ไม่ใช่แค่ “เร็ว” แต่ “ยั่งยืน” และแสดงให้เห็นว่าสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

สร้างทีมที่เข้าใจธุรกิจ ไม่ใช่แค่สร้างเทคโนโลยี การบริหารต้นทุน ช่องทางการขาย การวางกลยุทธ์เชิงพาณิชย์ คือสิ่งที่ VC ให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะนั่นแสดงถึงศักยภาพในการเดินระยะยาว ไม่ใช่แค่โชว์ prototype แล้วรอทุนรอบถัดไป

สื่อสารให้ VC เห็นว่าธุรกิจคุณ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” เพราะแก้ pain point ได้จริง VC จะเลือกสนับสนุนผู้ที่สามารถเล่าให้เห็นชัดว่า “โลกนี้จะขาดธุรกิจของคุณไม่ได้” ธุรกิจแบบนี้ไม่ได้แค่ “น่าสนใจ” แต่ “จำเป็น” เพราะเข้าไปอยู่ในจุดที่แก้ pain point สำคัญและยากจะถูกแทนที่

ปรับ mindset จาก “โชว์ไอเดีย” เป็น “แสดงความเข้าใจ” VC ไม่ได้มองหาแค่ผู้กล้าที่จะเริ่มต้น แต่ต้องการคนที่กล้ารับผิดชอบต่อเส้นทางของตัวเอง เข้าใจความเสี่ยงที่กำลังเผชิญ และรู้วิธีเปลี่ยนโอกาสเล็กๆ ให้กลายเป็นภาพใหญ่ในอนาคตได้

ในเกมใหม่ของการลงทุน ใครที่เข้าใจตลาดลึกกว่า และเติบโตได้โดยไม่เสียศูนย์

จะเป็นคนที่ VC อยากร่วมเดินทางด้วยที่สุดครับ!!

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.