ต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย ซึ่งภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นได้นำต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น ย้อมสี แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เรียกว่าเสื่อกก เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอน โดยตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกเหนือจากการทำเกษตรปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดแล้ว ชาวบ้านก็จะทอเสื่อกกเป็นรายได้เสริม แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระแสความนิยมในการใช้เสื่อกกลดลง และคนรุ่นใหม่ก็สนใจในภูมิปัญญาด้านนี้น้อยลง กอปรกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตสินค้าอาจมีข้อจำกัดในรูปแบบสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงช่องทางในการทำการตลาด
ดังนั้นเพื่อสืบสานภูมิปัญญาและองค์ความรู้ด้านการทอเสื่อกกของท้องถิ่นชุมชน และขยายช่องทางการตลาด ผศ.ดร.อาณัฏ ศิริพิชญ์ตระกูล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงดำเนินงานวิจัยในกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้และงานวิจัยด้านการออกแบบ ตามหลักเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นงานฝีมือและหัตถกรรมในท้องถิ่น ต่อยอดทักษะต้นทุนเดิมให้เกิดทักษะด้านสร้างสรรค์และประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทั้งการพัฒนาลวดลาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดเพื่อชุมชน เพื่อใช้ประโยชน์งานหัตถกรรมพื้นถิ่น สู่การยกระดับชุมชนพอเพียง ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2566 และผลงานการออกแบบยังได้รับคัดเลือกเป็นผลงานต้นแบบเพื่อชุมชน ให้จัดแสดงในนิทรรศการของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand research Expo 2024) อีกด้วย
ผศ.ดร.อาณัฏ กล่าวว่า การนำองค์ความรู้ในการพัฒนาชุมชนตำบลโคกปรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นกกและพัฒนาผ้าทอ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และทำให้ชุมชนเป็นรู้จักเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าจุดเด่นของกลุ่มชุมชนคือการมีทักษะด้านหัตถกรรมที่ดี ทั้งการสาน การทอ การย้อมสี แต่จุดด้อยคือชุมชนยังขาดอัตลักษณ์เด่นของสินค้า อาทิ ชื่อแบรนด์ ตราสัญลักษณ์ เครื่องหมายการค้า เนื่องจากชุมชนขาดการทำการตลาดอย่างจริงจัง ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย สินค้าไม่มีตลาดรองรับ รวมถึงขาดการทำสื่อประชาสัมพันธ์ประเภทต่าง ๆ อีกทั้งยังขาดการส่งต่อทักษะด้านองค์ความรู้หรือภูมิปัญญา ซึ่งอาจสูญหายลงได้สักวัน
ผศ.ดร.อาณัฏ กล่าวอีกว่า การออกแบบได้นำอัตลักษณ์พื้นถิ่นคือ ต้นปรง หรือชื่อชุมชนโคกปรงมาใช้ในการพัฒนาลวดลายผ้าทอและกกทอ การพัฒนารูปทรงเน้นการใช้วัสดุท้องถิ่น การออกแบบได้ทำการวิเคราะห์การตลาดเพื่อวางกลุ่มเป้าหมายเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้วัสดุร่วมอื่นในการออกแบบ การจัดวางสีสันอุปกรณ์ตกแต่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เน้นกลุ่มลูกค้าผู้ใช้งานอายุระหว่าง 25 – 45 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานที่มีกำลังการซื้อ โดยขั้นตอนการวิจัยประกอบด้วย 1.การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2.การออกแบบลวดลายกกทอและผ้าทอ (การสร้างอัตลักษณ์ลวดลายผ้าทอ) 3.การพัฒนาอัตลักษณ์ชุมชนกับการออกแบบ (การพัฒนาตราสัญลักษณ์) 4.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกในชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว (ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากการพิมพ์สกรีน / ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากผ้ามัดย้อม)
5.การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นกกและผ้าทอ และนำรูปทรงเรขาคณิตออกแบบเสื่อผืนจำนวน 5 ลวดลาย จากนั้นนำเสื่อกกที่ได้มาพัฒนาร่วมกับวัสดุตกแต่งอื่น ๆ เป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าแฟชั่นประเภทต่าง ๆ ที่มีลักษณะสามารถใช้ได้ทั้งผู้หญิงและชาย (Uni-sex) จำนวน 3 รูปแบบ 6. การใช้ประโยชน์จากต้นกกในการพัฒนากระดาษร่วมกับวัสดุอื่น และการทดสอบกระบวนการพิมพ์ระบบพื้นนูน และการนำกระดาษต้นกกไปพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์เพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ได้ทำการทดสอบ โดยการนำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาแล้วไปทดสอบการยอมรับของตลาดเป้าหมาย รวมถึงหาข้อบกพร่องเพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือสร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ต่อไป โดยจากผลการประเมินผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับความพึงพอใจดีมากทุกด้าน ได้แก่ ด้านการออกแบบลวดลาย ด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด “ผู้วิจัยคาดหวังว่าการใช้ประโยชน์อัตลักษณ์วัสดุพื้นถิ่นเพื่อการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์สู่การเพิ่มทักษะและรายได้ในชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานราก สามารถเป็นแนวทางให้ชุมชนได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของตนเองให้เพิ่มมูลค่ายิ่งขึ้นไป รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการพัฒนาไปทำการจดสิทธิบัตรทางการออกแบบ และชาวบ้านชุมชนยังสามารถต่อยอดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ในอนาคตอีกด้วย” ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 091 945 9942 ผศ.ดร.อาณัฏ กล่าว