มธ.ชวนขบคิด “Pride” มากกว่าสีสัน และควรเป็นนโยบายที่ปกป้องชีวิตจริง
GH News July 02, 2025 08:04 AM

 

แม้ขบวนพาเหรด Pride ของกรุงเทพฯ จะกลายเป็นภาพจำที่คุ้นตาในหลายเมืองทั่วโลก แต่ทว่า "เมืองแห่งความหลากหลาย" ไม่ควรถูกนิยามด้วยแสงสีหรือการเฉลิมฉลองเพียงชั่วคราว แต่ควรถูกถามต่อว่า เมืองเหล่านั้นปลอดภัยและเป็นธรรมกับทุกเพศสภาพในชีวิตจริงเพียงใด? อีกทั้งหนึ่งในมุมสำคัญของการสร้าง Pride ที่แท้จริง คือการรับมือกับความรุนแรงและอคติที่ยังฝังแน่นในสังคม แม้จะมีความพยายามผลักดันกฎหมายเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติ LGBTQ+ ทั่วโลกยังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อการถูกละเมิด และถูกทำร้ายมากกว่าคนทั่วไป

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนสังคมเปิดมุมมองทั้งในศาสตร์ทางด้านนิติศาสตร์และสถาปัตยกรรมระหว่าง รศ. ดร.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และ ผศ. วราลักษณ์ คงอ้วน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง เพื่อชวนคิดลึกไปกว่างานรื่นเริง ว่าความหมายของ Pride ที่แท้จริงควรฝังอยู่ใน “นโยบายเมือง” ที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของทุกคนและทุกเพศอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบบริการสาธารณะที่เข้าถึงได้ และความปลอดภัยในชีวิตประจำวันที่เป็นของทุกคน เพราะ “Pride” ที่แท้จริงไม่ควรจำกัดเพียงแค่ในเดือนใดเดือนหนึ่งของปี หากแต่ควรปรากฏอยู่ในทุกก้าวของการใช้ชีวิตที่เปิดกว้าง ยุติธรรม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน

รศ.ดร.อานนท์ มาเม้า กล่าว่า กฎหมายควรเป็นมากกว่าตัวอักษรในกระดาษ หากต้องเป็นเครื่องมือที่ยืนอยู่ข้างประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มักถูกผลักออกจากระบบอย่างเงียบ ๆ เช่น ชุมชน LGBTQ+ หากรัฐธรรมนูญคือสัญญาประชาคมที่กำหนดทิศทางของประเทศ ความเท่าเทียมทางเพศก็ต้องได้รับการยืนยันในทั้งตัวบทกฎหมายและทางการปฏิบัติในหลายกรณี แต่ความเป็นจริงในเมืองไทยวันนี้เผยให้เห็นช่องว่างที่น่ากังวล ระหว่างความก้าวหน้าของสังคมกับการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายที่ยังล่าช้าและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ที่แม้รัฐธรรมนูญไทยจะรับรอง “ความเสมอภาค” ไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีเพียงไม่กี่กฎหมายที่ลงลึกและปกป้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้อย่างแท้จริง

“ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะรัฐไทยยังมีท่าทีรับฟังที่ไม่ทันท่วงทีพอ ในยุคที่พลวัตทางสังคมเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หลายข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองของ LGBTQ+ ล้วนเกิดจากแรงผลักดันของภาคประชาชน ไม่ใช่จากความริเริ่มของรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงมือผู้มีอำนาจ มักพบกับคำถามที่อิงอยู่กับ “ศีลธรรมอันดี” หรือ “ค่านิยมไทย” ทั้งที่หลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญเองก็ระบุชัดว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของมนุษย์” รศ. ดร.อานนท์ ตั้งข้อสังเกต

ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายบางฉบับ เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ใช้มาแล้วกว่า 10 ปี และเคยรับรองสิทธิของบุคลากรข้ามเพศในการแสดงออกตามอัตลักษณ์ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหามากมาย เช่น การที่หน่วยงานบางแห่งโต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการ ส่งผลให้สิทธิที่ควรได้รับการคุ้มครองกลายเป็นเรื่องยากลำบากในทางความเป็นจริง อย่างไรก็ดี การปฏิรูปกฎหมายไทยให้ทันกับยุคสมัยจึงต้องไม่หยุดแค่การบัญญัติกฎหมายใหม่ แต่ต้องรวมถึงการทบทวนกระบวนการบังคับใช้และกลไกการรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงจัง รัฐต้อง “จมูกไว” ต่อสัญญาณและกระแสของสังคม พร้อมเปิดพื้นที่ให้สิทธิของคนทุกกลุ่มสามารถเบ่งบานได้อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะในหน้ากระดาษ แต่ต้องจับต้องได้จริงในชีวิตของทุกคน

ผศ.วราลักษณ์ คงอ้วน กล่าวว่า การออกแบบเมืองในมุมของสถาปัตยกรรม ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อความสวยงามหรือประสิทธิภาพในการใช้งาน แต่ต้องพิจารณาความหลากหลายของผู้คนเป็นหัวใจสำคัญ องค์ประกอบพื้นฐานของเมือง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม พื้นที่สาธารณะ หรือสภาพแวดล้อม ต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานในทุกมิติ ทั้งด้านเพศสภาพ วัย ความสามารถทางร่างกาย และฐานะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เมืองเป็นสถานที่ที่ใครก็อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ การจัดแสงสว่างที่เพียงพอเพื่อความปลอดภัย หรือแม้แต่ที่นั่งในสวนสาธารณะที่คำนึงถึงผู้สูงอายุ ทุกองค์ประกอบล้วนสะท้อนแนวคิด “การเข้าถึงได้ ความปลอดภัย และความเท่าเทียม” อย่างแท้จริง

เมืองที่ดีเริ่มต้นจากการวางผังเมืองที่คำนึงถึงความหลากหลาย ไม่ใช่แค่การจัดการพื้นที่ให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรของเมืองได้อย่างเท่าเทียม เพราะเมื่อเราพูดถึงความยั่งยืน เราไม่ได้พูดถึงแค่สิ่งแวดล้อม แต่พูดถึงชีวิตของคนทุกกลุ่มที่ต้องเติบโตไปพร้อมกันในเมืองเดียวกัน อย่างกรณี การออกแบบพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำทุกเพศ หรือห้องสมุดชุมชน ให้ตอบโจทย์ความหลากหลายโดยไม่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึก “ถูกแยก” หรือ “ถูกตีตรา” นั้น เป็นโจทย์ละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม การจะออกแบบให้ “แยกให้เห็น” อย่างเคารพความแตกต่าง ขณะเดียวกันก็ “รวมให้กลมกลืน” อย่างไม่ทำให้ใครรู้สึกเป็นอื่น จำเป็นต้องเริ่มจากการเรียนรู้พื้นที่และชุมชนนั้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การวางผังให้สวยงาม แต่ต้องเข้าใจว่าคนในพื้นที่พร้อมหรือไม่ พร้อมอย่างไร และต้องการสิ่งใดจริง ๆ

ตัวอย่างเช่น ห้องน้ำทุกเพศที่ดูเผิน ๆ อาจเป็นทางออกที่ inclusive แต่หากไม่คำนึงถึงจำนวน ความปลอดภัย หรือความสะอาด ก็อาจกลายเป็นจุดเปราะบางที่ลดคุณภาพชีวิตมากกว่าจะสร้างความเท่าเทียม การออกแบบที่ดีจึงต้องวางอยู่บนฐานของ ฟังก์ชันที่ชัดเจนและไม่ละเลยหน้าที่ดั้งเดิมของพื้นที่นั้น เช่น ห้องน้ำต้องปลอดภัย สะอาด เข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำชาย หญิง หรือแบบไม่ระบุเพศ ขณะที่ห้องสมุดก็ต้องมีบรรยากาศสงบ เงียบ มีพื้นที่สำหรับเด็ก ผู้สูงวัย หรือกลุ่มผู้ใช้งานเฉพาะ โดยไม่แยกออกจนทำให้ใครรู้สึกว่า “ไม่ใช่พื้นที่ของฉัน”

“ในมุมของสถาปัตย์ ความหลากหลายทางเพศอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการออกแบบเชิงกายภาพ แต่เป็นสิ่งที่ต้องแทรกอยู่ในวิธีคิดและกระบวนการออกแบบอย่างแยบยล นักออกแบบจึงไม่ใช่แค่ผู้ออกแบบรูปทรงหรือวัสดุ แต่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นนักแปลความต้องการของสังคม และเป็นผู้ประสานระหว่าง “ความเป็นจริง” กับ “อุดมคติ” ให้เกิดสมดุลระหว่างสิ่งที่คนต้องการ กับสิ่งที่เมืองควรมี โดยไม่ปล่อยให้ใครต้องถูกมองข้ามในพื้นที่ที่ควรเป็นของทุกคน” ผศ.วราลักษณ์ กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.