ด่านเกวียนเหงา ผู้ประกอบการโคราช วอนรัฐโหมตีปี๊บเที่ยวไทยคนละครึ่ง-ลดขั้นตอนซับซ้อน ทำยุ่งยากทั้งปชช.และร้านค้า
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม โครงการเที่ยวคนละครึ่งเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นด้วยงบประมาณ 1,750 ล้านบาท จำกัดสิทธิที่ 500,000 สิทธิ โดยมอบส่วนลดที่พักสูงสุด 50% และคูปองดิจิทัล 500 บาทต่อวัน สำหรับใช้จ่ายในร้านค้าที่ร่วมโครงการ
แต่การลงทะเบียนในวันแรกกลับไม่ราบรื่น เพราะระบบแอพพลิเคชั่น Amazing Thailand และเว็บไซต์ www.เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com ที่ต้องยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น ThaiID ล่ม ทำให้จำนวนประชาชนมากต้องผิดหวัง
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองหลัก อย่างเช่น จ.นครราชสีมา คาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่ก็กังวลความซับซ้อนของขั้นตอนการลงทะเบียน และการรับเงินสมทบจากรัฐ
โดยวันนี้ (3 กรกฎาคม 2568) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของ จ.นครราชสีมา และยังปรากฏอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดด้วย ซึ่งพบว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา ร้านค้าต่างๆ แทบไม่มีนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อเครื่องปั้นดินเผาเลย โดยนางสุพรรณา พัสกรภักดี อายุ 56 ปี เจ้าของร้านมดแดงดินเผา (ด่านเกวียน) และประธานชมรมผู้ประกอบการเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เปิดเผยว่า ตนคาดหวังโครงการนี้มาก เพราะเศรษฐกิจในพื้นที่ซบเซามานานถึง 2-3 ปีแล้ว และปีนี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก ร้านค้าจากเดิมที่เคยมีสมาชิกในชมรมฯ กว่า 300-400 ร้าน ปัจจุบันเหลือราว 200 ร้านเท่านั้น เพราะจำหน่ายสินค้าไม่ได้ โรงงานต้องปิดตัว ชาวบ้านไม่มีรายได้ ลูกหลานต้องออกไปทำงานโรงงานต่างถิ่น เหลือเพียงรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ต้องประคองอาชีพกันไป ทำให้น่าเป็นห่วงว่า อาชีพนี้จะไม่มีคนสืบทอดอีกต่อไป
ตนเห็นว่าโครงการนี้น่าจะช่วยได้ แต่ติดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ร้านค้าต้องมีใบเสร็จ มีทะเบียนการค้า ซึ่งร้านค้าในด่านเกวียนส่วนใหญ่เป็นแบบชาวบ้าน ทำด้วยภูมิปัญญา ไม่มีเอกสารครบตามที่รัฐกำหนด อีกทั้งตนยังไม่เข้าใจว่า เวลาลูกค้ามาใช้สิทธิแล้ว แม่ค้าจะไปเบิกเงินส่วนของรัฐได้อย่างไร จะเบิกจากใคร เบิกตอนไหน ก็ยังไม่มีใครมาอธิบายให้เข้าใจ จึงทำให้แม่ค้าอธิบายลูกค้าไม่ได้ และไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ตนอยากเสนอให้รัฐควรทำขั้นตอนต่างๆ ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สิทธิสำหรับการซื้อสินค้าโอท็อป เพราะสินค้าเหล่านี้มีมูลค่า และสามารถต่อยอดทางวัฒนธรรมได้ดี ที่สำคัญคือ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นวัฒนธรรม อย่างหมู่บ้านด่านเกวียน ซึ่งยังคงมีสินค้าดี มีภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เช่น การทำเครื่องปั้นดินเผา ที่ต้องใช้เวลาในการผลิตถึง 20-25 วันต่อหนึ่งชิ้น และยังเปิดเวิร์กช้อป ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำด้วยตนเอง ตนยืนยันว่าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีชีวิต และด่านเกวียนยังเป็นหนึ่งในคำขวัญของจังหวัด จึงไม่อยากเห็นอาชีพนี้หายไปจากแผ่นดินไทย” นางสุพรรณา กล่าว