ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ “จักรวาลแห่งน้ำพระทัยเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์”
ข่าวสด July 06, 2025 12:20 PM

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ “จักรวาลแห่งน้ำพระทัยเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๘ ณ อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

กรุงเทพฯ วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๘ : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคลและกิจกรรมเทิดพระเกียรติถวายเป็นพระกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงเจริญพระชันษา ๖๘ ปี โดยมี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และดร.ฐากูร พานิช รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ข้าราชการ บุคลากรจากหน่วยงานสถาบันภาคีเครือข่ายและประชาชนเข้าร่วมพิธี ณ ชั้น ๖ อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อร่วมถวายความจงรักภักดีน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์บนผืนแผ่นดินไทย ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ในการพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากจากความเจ็บป่วยของประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตลอดจนทรงส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถด้านการศึกษาวิจัยและการพัฒนาเภสัชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยผ่านพระกรณียกิจนานัปการอันเกิดเป็นคุณูปการสำคัญต่อวงการสาธารณสุขไทย อีกทั้งพระปรีชาสามารถที่เป็นเลิศด้านทัศนศิลป์และการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายสาขา อันสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพเสมือนจักรวาลแห่งน้ำพระทัยที่ทรงตั้งมั่นให้งานศิลปะสร้างความสุขทางใจและยังประโยชน์ต่อยอดสู่การช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งยังทรงเป็นแรงบันดาลใจในการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กเยาวชนและผู้ที่รักในงานศิลปะสามารถใช้จินตนาการ ความรู้ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพื่อกล่อมเกลาจิตใจและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด นับเป็นพระกรุณาธิคุณและพระเมตตาอันสูงสุดแก่พสกนิกรไทย

โอกาสนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ จักรวาลแห่งน้ำพระทัยพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในพระดำริ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยพระวิสัยทัศน์กว้างไกลที่จะพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ การสาธารณสุขของประเทศไทยและต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมยาด้วยทรงตระหนักถึงความยากลำบากของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถเข้าถึงเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง ทรงมีพระดำริให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ดำเนินโครงการโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ตั้งอยู่ ณ พระตําหนักพิมานมาศ อําเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบผลิตเภสัชภัณฑ์ที่จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถการวิจัยและการพัฒนาเภสัชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่มีความทันสมัยและครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิตยาและการกระจายยา GMDP PIC/s ตามมาตรฐานสากลและมีศักยภาพด้านการวิจัยทางเภสัชกรรมซึ่งมีความสามารถนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาต่อยอดเป็นการผลิตระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้มียารักษาโรคมะเร็งเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศไทยซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เสริมสร้างองค์ความรู้แก่บุคลากรในด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงให้แก่ประเทศไทย โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดร.ภก.วัชระ กาญจนกวินกุล ผู้อำนวยการโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และแพทย์หญิงจอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ร่วมแถลงถึงผลของการทรงงานด้านเภสัชกรรมด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และพระปณิธานอันแน่วแน่ตลอดหลายปีได้เกิดเป็นคุณูปการสำคัญต่อวงการสาธารณสุขที่พระองค์ทรงนำความสำเร็จในการผลิตยารักษาโรคมะเร็งมุ่งเป้าชนิดเม็ดตำรับแรกในประเทศไทยจากโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ภายใต้ชื่อยา “อิมครานิบ ๑๐๐ / IMCRANIB 100″ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๘

สำหรับ “ยาอิมครานิบ ๑๐๐” คือ ยารักษาแบบมุ่งเป้า ที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Tyrosine kinase ที่สามารถยับยั้งการเติบโตและการกระจายของเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับเคมีบำบัดแบบเดิม ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลายประเภท เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดฟิลาเดลเฟียบวก มะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (GIST) มะเร็งผิวหนังชนิดหายาก (DFSP) แม้ว่ายาอิมมาทินิบนี้ จะสามารถเบิกจ่ายจากกองทุนสุขภาพได้ในหลายโรคแล้วก็จริง แต่ยังมีข้อจำกัดในบางโรค และบางระยะของโรคที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายจากกองทุนสุขภาพในปัจจุบัน การผลิตได้เองในประเทศ จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดนี้ โดยการขยายขอบเขตการใช้ยาให้ครอบคลุมทุกข้อบ่งชี้ของการรักษาซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค ลดความทุกข์ทรมาน และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยศูนย์มะเร็งวิทยา ได้พิจารณานำยา “อิมครานิบ ๑๐๐” มาใช้ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และศักยภาพของการผลิตยาคุณภาพสูงในประเทศ ไปสู่การนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีความพร้อมในด้านระบบบริการ การจัดการยา และการติดตามข้อมูลผลลัพธ์ทางคลินิก โดยทำงานประสานร่วมกันระหว่างแพทย์ เภสัชกร และทีมสนับสนุน เพื่อให้การนำร่องนี้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๘ เป็นต้นไป ความสำเร็จนี้นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่ไม่เพียงช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะความชำนาญด้านการพัฒนาตำรับ การผลิต การควบคุมคุณภาพ การประกันคุณภาพ การทดสอบทางเภสัชวิทยา และการขึ้นทะเบียนยารักษาโรคมะเร็งให้แก่บุคลากรและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นการยกระดับความสามารถด้านเภสัชอุตสาหการและเทคโนโลยีเภสัชกรรมและบุคลากรทางด้านนี้ของประเทศไทยให้พร้อมรองรับการผลิตและการวิจัยยารักษาโรคมะเร็งตำรับอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศในระยะยาวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอย่างยั่งยืน

ด้าน มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง เลขาธิการและกรรมการมูลนิธิ ฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาและกลั่นกรอง ฯ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ และรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช ประธานกรรมการดำเนินงานจัดประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ได้ร่วมกันแถลงถึงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทาน“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” “Princess Chulabhorn Award” ประจำปี ๒๕๖๗ ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรคมะเร็ง และการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้ว ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เพื่อเป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ เปิดบริการแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความเจริญก้าวหน้าและมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทรงอุทิศพระวรกายในการปฏิบัติพระกรณียกิจนานัปการเพื่อการพัฒนาค้นคว้าวิจัย พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้และยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาประเทศ ทั้งนี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ ฯ จะดำเนินการคัดเลือกและประกาศผลผู้ได้รับรางวัล ฯ เป็นประจำทุกปี จำนวน ๑ รางวัล ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ โดยมีกำหนดการเข้ารับพระราชทานรางวัลอันทรงเกียรตินี้ในเดือนกรกฎาคมของทุกปี สำหรับ ผู้ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ซึ่งนับเป็นท่านที่สองตั้งแต่มีการจัดตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฯ ขึ้นมา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เดนนิส เจ. สเลมอน (Dennis J. Slamon, MD) อายุรแพทย์โรคมะเร็งชาวอเมริกัน ปัจจุบันปฏิบัติงานอยู่ ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอเนียร์ เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา (The University of California, Los Angeles, USA) ซึ่งท่านเป็นผู้ค้นพบยีน Human Epidermal Growth Factor Receptor 2 (HER2) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาชีววัตถุ ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ซึ่งเป็นยารักษาแบบโมเลกุลมุ่งเป้าที่ปฏิวัติวงการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมชนิด HER2-positive ทำให้ช่วยชีวิตผู้หญิงนับล้านคนทั่วโลก การค้นพบของท่านนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคการแพทย์แบบเฉพาะบุคคล และ การแพทย์แม่นยำ ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์อุปถัมภ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ได้พระราชทานกำหนดวันจัดพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฯ ประจำปี ๒๕๖๗ แก่ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ เดนนิส เจ. สเลมอน (Dennis J. Slamon, MD) ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ บอลรูม A ชั้น ๔ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และภายหลังพิธีพระราชทานรางวัล จะทรงเปิดการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ ๒ เรื่อง “Thailand against Cancer as One” พร้อมทั้งจะทรงรับฟังการแสดงปาฐกถาพิเศษของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เดนนิส สเลมอน เรื่อง “Identification & Validation of Novel Targets in Oncology: From HER2 to the CDK–4/6 Kinases. Biologic and Therapeutic Implication” พร้อมกันนี้ เพื่อเผยแพร่ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งในประเทศไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในพระอุปถัมภ์ ฯ จึงได้จัดประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ ๒ ขึ้นต่อเนื่องในวันศุกร์ ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๘ เวลา ๙.๐๐-๑๕.๐๐ น ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ บอลรูม A โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในด้านการป้องกัน ควบคุม และการดูแลรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย จากหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ โดยเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนองค์กร/หน่วยงานด้านการดูแลรักษาโรคมะเร็ง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในประเทศไทย ซึ่งสำหรับในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ เดนนิส เจ. สเลมอน ผู้ได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ประจำปี ๒๕๖๗ และปัญหามะเร็งของประเทศไทย ดังนั้น เนื้อหาการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ครั้งที่ ๒ นี้ จึงเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับ ATMP Advanced Therapeutic Medicinal Products รวมทั้งการอัปเดตนวัตกรรมการรักษามะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ ครอบคลุมทั้งการผ่าตัด รังสีรักษา ยา ตลอดจนการคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ในประเทศไทย โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ https://dg.th/3jo6rpiyn4 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในด้านรางวัลเทิดพระเกียรติสำหรับหน่วยงานภายในประเทศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดย ดร.ฐากูร พานิช รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมด้วย ดร.นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมแถลงผลการตัดสินหน่วยงานผู้ได้รับพระราชทานรางวัลศรีสวางควัฒน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๘ เพื่อน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และสืบสานพระปณิธานในการส่งเสริมให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ พัฒนาการบริการที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในทุกถิ่นฐาน โดยมีการสรรหาและคัดเลือกหน่วยงานบริการด้านสาธารณสุขที่ให้บริการทางการแพทย์อย่างมีมาตรฐาน มีความทุ่มเทในการพัฒนาระบบบริการประชาชนที่เป็นเลิศ อุทิศตนในการปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ อุตสาหะ และทุ่มเท สำหรับผลการตัดสินหน่วยงานผู้ได้รับพระราชทาน “รางวัลศรีสวางควัฒน” ประจำปี ๒๕๖๘ แบ่งตามประเภทโรงพยาบาลได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ประเภทโรงพยาบาลศูนย์ และ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (ระดับ รพศ.) หน่วยงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด ๗๕๘ เตียง ครอบคลุมครบทุกด้านการรักษา สามารถให้การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรคอย่างครบวงจร โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ดำเนินงานด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ชั้นเลิศในดวงใจแห่งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รางวัลชนะเลิศประเภทโรงพยาบาลทั่วไปและ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (ระดับ รพท.) ได้แก่ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด ๔๑๓ เตียง โดยเป็นโรงพยาบาลที่มีการพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองที่บูรณาการได้อย่างครอบคลุม นำไปสู่การสร้างผลลัพธ์การลดอัตราตายอย่างเด่นชัด สามารถลดความพิการ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมระบบสุขภาพเข้ากับบริบทที่ท้าทายทางศาสนาและวัฒนธรรมของบริบทพื้นที่ โดยระดมพลังเครือข่ายบริการสุขภาพ เครือข่ายชุมชน เครือข่ายผู้นำศาสนา เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคีวิชาชีพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยวิสัยทัศน์ในการโรงพยาบาลคุณภาพ ชั้นนำ บริการทันสมัย เครือข่ายเข้มแข็ง ประชาชนสุขภาพดี บุคลากรมีความสุข รางวัลชนะเลิศประเภทโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (ระดับ รพช.) ได้แก่ โรงพยาบาลทรายทองวัฒนา อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร เป็นโรงพยาบาลชุมชน ระดับ F2 ขนาด ๓๐ เตียง มีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งและมีความโดดเด่น ชุมชนเล็งเห็นปัญหาร่วมกัน พร้อมร่วมดำเนินการปรับปรุง ช่วยเหลือ และพัฒนาปัจจัยด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคมโดยรวม เช่น การช่วยเหลือกลุ่มคนยากไร้ในท้องถิ่น ส่งผลให้การพัฒนาด้านเครือข่าย การมีส่วนร่วม และการเข้าถึงประชาชนในแต่ละมิติ มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ด้วยวิสัยทัศน์การดำเนินงานในการโรงพยาบาลมาตรฐาน บริการประทับใจ ก้าวไปคู่ชุมชน รางวัลชนะเลิศ ประเภทโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี ได้แก่ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นหน่วยบริการที่มีการดำเนินงานทางการแพทย์สอดคล้องกันในมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน พร้อมมีแนวทางการทบทวน การวิเคราะห์ปัญหา การวางแผน และการใช้ผลลัพธ์เพื่อการปรับปรุงระบบงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีภาคีเครือข่ายเข้มแข็งด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นสถานีอนามัยมาตรฐานสากล สร้างสังคมรอบรู้ด้านสุขภาพ ยกระดับงานอาชีวอนามัย บริการสุขภาพชุมชนอย่างมีส่วนร่วม บูรณาการงานต่อเนื่องภายใต้ภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง ระดับแนวหน้าของประเทศภายในปี ๒๕๗๐

โอกาสนี้ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “เสืออวกาศ” เพื่อให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “จักรวาลแห่งน้ำพระทัยเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” นิทรรศการเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๘ ณ อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยเริ่มจัดแสดงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๘ เป็นต้นไป เพื่อให้บุคลากร ผู้รับบริการ ตลอดจนประชาชนได้ร่วมชื่นชมพระอัจฉริยภาพ พร้อมกันนี้ มูลนิธิศรีสวางควัฒน ในพระอุปถัมภ์ฯ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์การกุศลจากลวดลายภาพวาดฝีพระหัตถ์ “Fierce Beauty” เสือกับดอกกุหลาบสีน้ำเงิน จุดกำเนิดจักรวาลในพระทัยสู่นิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด ”เสืออวกาศ“ จากพระอัจฉริยภาพด้านทัศนศิลป์ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์การกุศล SIRISILAPIN Art for Life คอลเลกชันใหม่ “เสืออวกาศ” นำรายได้สมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสและจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยผู้ที่สนใจสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนได้ที่ร้านมูลนิธิ ฯ ชั้น ๑ อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, ชั้น ๑ อาคารอัครราชกุมารี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย ๗ และหอศิลป์ทิพย์พิมาน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หรือร่วมบริจาคช่องทางออนไลน์ผ่านทาง LINE Shop มูลนิธิศรีสวางควัฒนฯ (LINE @srisavangavadhana) ลดหย่อนภาษีได้ ๒ เท่า

ภายในงาน ยังมีการจัดกิจกรรมสืบสานตามรอยจักรวาลในพระทัยแห่งองค์สิริศิลปิน “สืบสานสิริศิลป์ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย บรรยายให้ความรู้เรื่องผ้าไทย โดย ดร.คมกฤช ฤทธิ์ขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ผ้าไทย ศิลปินร่วมสมัยแห่งชาติด้านเรขศิลป์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณชัยภูมิ (เฮือนคำมุ) พร้อม Workshop DIY “ประดิษฐ์พวงกุญแจผีเสื้อจากผ้าไหม” และบรรยายให้ความรู้เรื่องศิลปะลายไทย โดย อาจารย์ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาหัตถศิลป์ ภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พร้อมกิจกรรม Workshop DIY “กระเป๋าผ้าประคบทอง” ด้วยศิลปะลายไทยและลวดลายเสือแห่งองค์สิริศิลปิน ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังบรรยายและร่วมกิจกรรม Workshop นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทำความดีถวายพระกุศล ประกอบด้วย บริจาคโลหิตกับสภากาชาดไทย บริจาคอวัยวะกับศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ร่วมกับสภากาชาดไทย การให้บริการสุขภาพโดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อาทิ ปรึกษานัดหมายการรักษาโรคมะเร็ง วิเคราะห์ธาตุจากการแพทย์บูรณาการ เรียนรู้การทำ CPR ช่วยชีวิตผู้ป่วย การร่วมบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสและจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กับมูลนิธิศรีสวางควัฒน ในพระอุปถัมภ์ ร่วมบริจาคบูชาพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากโครงการศิลปาชีพตามพระดำริและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่มาร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ด้วย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.