นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาสัญชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 โดยย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่ใช่การให้สัญชาติไทยแก่คนต่างด้าวทั่วไป หรือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแต่อย่างใด
รมช.มหาดไทย ชี้แจงว่าประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และการสั่งให้บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ได้รับสัญชาติไทยเป็นการทั่วไป มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา
นางสาวธีรรัตน์ เน้นย้ำว่า การดำเนินการครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่ ชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน และได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ รวมถึงมีข้อมูลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรอยู่แล้ว ประมาณ 1.4 แสนราย ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายใบหน้าและลายพิมพ์นิ้วมือ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรโดยมีบิดาหรือมารดาเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ หรือมีชื่อในทะเบียนบ้าน มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 และมีเลขหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 50 ถึง 72 นอกจากนี้ยังรวมถึงผู้ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ มีชื่อในทะเบียนบ้าน และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 5 หรือเลข 8
2. บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรโดยมีบิดาหรือมารดาได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 รวมถึงชาวมอร์แกน โดยบุคคลกลุ่มนี้จะมีชื่อในทะเบียนประวัติ มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 1 และมีเลขหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 89 ซึ่งหมายรวมถึงบิดาหรือมารดาที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติด้วย
รมช.มหาดไทย กล่าวย้ำว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่การให้สัญชาติกับใครก็ได้แบบ "แจกฟรี" อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน เป็นปัญหาของผู้คนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานนับสิบปี มีลูกมีหลานที่เกิดและเติบโตที่นี่ ใช้ชีวิตร่วมกับคนไทยอย่างสงบ มีความผูกพันกับแผ่นดินนี้โดยแท้จริง
"การให้สถานะหรือสัญชาติกับบุคคลกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่การเปิดประตูให้ใครก็ได้เข้ามาแล้วรับสิทธิในทันที แต่ตรงกันข้าม ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนและเข้มงวด เช่น ต้องเป็นผู้ที่มีข้อมูลทะเบียนก่อนปี 2542 หรือในรอบปี 2548, 2554 ซึ่งทางกรมการปกครองมีฐานข้อมูลจัดเก็บไว้เป็นระบบ" นางสาวธีรรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ กระบวนการตรวจสอบจะดำเนินการอย่างรอบคอบในระดับพื้นที่ โดยร่วมมือกันระหว่างฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทะเบียน และฝ่ายปกครอง และหากมีการให้ข้อมูลเท็จหรือมีการสวมสิทธิ จะถูกเพิกถอนสถานะในภายหลัง
นางสาวธีรรัตน์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เป็น "ต่างด้าวหน้าใหม่" แต่เป็นผู้ที่อยู่ในสังคมไทยมานาน หลายครอบครัวอยู่กันมารุ่นต่อรุ่นโดยไม่มีสถานะทางกฎหมายที่แน่นอน ทั้งที่ใช้ชีวิตร่วมกับคนมีสัญชาติไทย ทำงานในหลากหลายอาชีพ และบางกลุ่มอยู่มาก่อนที่บรรพบุรุษของคนไทยบางกลุ่มจะอพยพมาที่ประเทศไทยเสียอีก
"การให้สถานะจึงไม่ใช่การ 'แย่งสิทธิคนไทย' แต่เป็นการทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันมีความชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ ลดช่องโหว่การเอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันให้เป็นธรรมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" รมช.มหาดไทย กล่าวย้ำ
การมีสถานะที่ชัดเจน ยังช่วยลดปัญหาสังคมในระยะยาว เช่น การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การสาธารณสุข หรือแม้แต่การจดทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งในทางกลับกันจะช่วยรัฐในการจัดเก็บภาษี สร้างรายได้ และลดความเปราะบางในระบบความมั่นคงของประเทศ
"กลุ่มคนเหล่านี้จำนวนมากมีลูกหลานที่เกิดในไทย ได้รับการศึกษาแบบไทย พูดไทย คิดแบบไทย และมีหัวใจรักแผ่นดินนี้ พวกเขาไม่ได้มาเพื่อแย่ง แต่พร้อมจะร่วมสร้าง และบางคนอาจกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาร่วมเป็นกำลังในการพัฒนาชาติไทยยิ่งกว่าที่เราคาดคิดอีกด้วย ประเทศไทยไม่เคยลืมคนไทย และในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ไม่ทิ้งคนที่อยู่ร่วมแผ่นดินนี้อย่างสงบสุขมานานหลายสิบปีเช่นกัน" นางสาวธีรรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย