FETCO ชี้ ไทยโดนภาษี 36% ห่วง SMEs-ลงทุนทรุด หนุนลดดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจ
Pornchanok July 11, 2025 10:21 AM

สภาตลาดทุนไทย หรือ FETCO ประเมินภาษีสหรัฐที่ 36% กระทบ “ส่งออก-เอสเอ็มอี-การลงทุน” ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย “อ่อนแอลง” คาดกรอบโต 1.5-2% แนะประคองเศรษฐกิจไทยให้โต ลดดอกเบี้ยช่วยพยุง พร้อมเยียวยากลุ่มได้รับผลกระทบ ชี้ ผลกระทบต่อตลาดทุนไม่มาก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยก่อนจะได้รับจดหมายจากทรัมป์ จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยเป็นเหมือน “คนป่วย” ที่ได้รับแรงกระแทกจากข้างนอก และปัจจัยภายในประเทศที่แรงขับเคลื่อนน้อยลง การเมืองไม่นิ่งทำให้การขับเคลื่อนทำลำบากมากขึ้น ดังนั้น สะท้อนว่า “เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง” และ “อ่อนแอมากกว่าที่คาดไว้” ซึ่งเดิมเราคาดว่าจีดีพีไทยจะโตได้ 3% แต่ปัจจุบันเราให้ 2% บวก Downside หรืออยู่ในกรอบ 1.5-2%

ส่วนผลกระทบหลังจากได้ตัวเลขภาษี 36% คงต้องรอดูผลเจรจาอีกครั้ง ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ รอดูประเทศอินเดีย และจีน รวมถึงประเทศอื่นที่จะเจรจา ซึ่งจะรู้ว่าเราอยู่จุดไหน จากการประกาศตัวเลข Tariffs ของไทยในอัตรา 36% จะเห็นว่าไทยมีทางเลือกไม่มากนัก โดยจะมีอยู่ 2-3 ทางเลือก คือ 1.ยอมรับสภาพที่ 36% และ 2.กลับไปเจรจาเพิ่มเติมให้ได้ในอัตรา 25% เพราะคิดว่าปรับลดลงมาที่ระดับ 10% อาจจะค่อนข้างยาก หรือ 3.เดินตามประเทศเวียดนาม ทำให้ได้เต็มที่ระดับ 20%

อย่างไรก็ดี ในกรณี Tariffs อยู่ที่ระดับ 36% ไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ตามมาคือ ภาคการส่งออกจะเหนื่อยและคิดหนัก เพราะส่งออกไปสหรัฐจะมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงบริษัทที่มีการแจ้งการลงทุนกับบีโอไอ จะเกิดการเปลี่ยนใจ ทำให้กระทบกับอนาคตเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการลงทุนบีโอไอจะช่วยสร้างการลงทุนในกลุ่ม New S-curve ใหม่ให้ไทย จะหายไปทันที

ดังนั้น สิ่งที่ไทยจะต้องทำจะมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การรักษา Momentum ของเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้ ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องขยายตัวสูง แค่เติบโตได้ 1% แต่ไม่หยุดชะงัก ถือว่าดีแล้ว เนื่องจากหากปล่อยให้ “เศรษฐกิจหยุด” จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาค่อนข้างยาก จึงมองว่าการรักษาให้เศรษฐกิจไปต่อได้เป็นเรื่องสำคัญ

โดยทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งภาคนโยบายการเงิน การคลัง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออัตราดอกเบี้ยที่สามารถลดได้จากระดับปัจจุบัน 1.75% ต่อปี มองว่ามีช่องที่จะลดได้ “ลดเร็ว ดีกว่าลดช้า” เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกและผู้ประกอบการ

2.รักษาความเชื่อมั่นนักลงทุน (Investor Confidence) เพราะหากนักลงทุนเริ่มเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว หรือเริ่มถดถอย จะทำให้นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่น ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุน และส่งผลต่อไปยังการใช้สินเชื่อ และ 3.ความขัดแย้งภายในประเทศให้อยู่ในกรอบ หากรุนแรงและลุกลามจะเป็นปัญหาซ้ำเติมกับเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่แล้วแย่ไปอีก

“หัวใจสำคัญ คือ เศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้าได้ และนำเงินที่ได้จากเศรษฐกิจที่หมุนได้ ไปเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องยอมรับว่า การเจรจาการค้า จะไม่มีใครที่ไม่ได้รับผลกระทบเลย จะต้องมีคนได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเห็นว่า คณะกรรมการภาคเอกชนร่วม 3 สถาบัน (กกร.) จะทำข้อเสนอเหล่านี้เช่นกัน โดยช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์ หากเราดูแลและสามารถรักษาเศรษฐกิจให้พอไปได้ จะเป็นการบริหารวิกฤตให้ไปได้”

สำหรับผลกระทบต่อตลาดทุนนั้นมองว่า กรณีสหรัฐคิดอัตราภาษีที่ระดับ 36% ล่าสุดรอบนี้ จะเห็นว่าส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไม่ได้รุนแรงเหมือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากตลาดรับรู้ข่าวผลกระทบมาต่อเนื่องตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศครั้งแรกมาแล้วตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2568 โดยนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้องพยายามปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มองว่าภาวะที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดกับภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) มากกว่าผลกระทบต่อตลาดทุน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.