'หมอวรงค์' โพสต์9ข้อสรุปรายงานแพทยสภา นักโทษชั้น14ไม่ต้องอยู่รพ.6เดือน
amarinTV July 11, 2025 02:32 PM

หมอวรงค์ โพสต์ 9 ข้อ บทสรุปรายงานแพทยสภา นักโทษชั้น14 ไม่มีเหตุผลต้องอยู่รพ.ตำรวจต่อเนื่องถึง 6 เดือน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า นักโทษชั้น14น่าจะรอดยากข้อมูลทางการแพทย์ที่ประชาชนควรรู้ ผมได้มีโอกาสอ่าน เอกสารของแพทยสภาที่สื่อสำนักหนึ่ง นำมาลงรายละเอียด เกี่ยวกับการลงโทษจริยธรรมแพทย์ ด้วยสามัญสำนึก แทบจะพูดได้เต็มปากว่า นักโทษชั้น14 ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะต้องอยู่รพ.ตำรวจต่อเนื่องถึง 6 เดือนเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อเอกสารแพทยสภา แบบง่ายๆ ผมขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจ

1.แพทย์ผู้ตรวจร่างกาย ตอนกลางวัน แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ได้ตรวจร่างกายและเขียนหนังสือส่งตัวให้นักโทษ เนื่องจากมีประวัติจากต่างประเทศ มีโรคหลายโรค และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ตั้งใจให้ไปตรวจในเวลาราชการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก

2.ช่วงเวลากลางคืน เวลา 21.00-22.00น. พยาบาลได้โทรไปปรึกษา แพทย์ผู้ตรวจร่างกายตอนกลางวันว่า นักโทษมีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ออกซิเจนในเลือดต่ำลง สังเกตอาการแย่ลง อ้างว่าได้ปรึกษาแพทย์เวร แนะนำให้ส่งนักโทษไปรพ.ตำรวจ จากรายงานที่ได้รับ แพทย์ผู้ตรวจร่างกาย สงสัยนักโทษจะเป็นโรคทางด้านเส้นเลือดหัวใจ จึงแนะนำว่าไม่ควรสังเกตอาการในสถานพยาบาลของเรือนจำ ควรส่งต่อไปที่สถานพยาบาลที่เหมาะสม พยาบาลได้ขอใช้หนังสือส่งตัวที่เขียนตอนกลางวัน (ข้อมูลข้อนี้มีความขัดแย้งในข้อมูลที่สื่อรายงานการไต่สวน)โดยทั่วไปไม่ควรใช้ใบส่งตัวใบเดียวกัน เนื่องจาก การเขียนใบส่งตัวที่เขียนตอนกลางวัน จะเป็นโรคเรื้อรังเก่าที่มีประวัติจากต่างประเทศ ส่วนอาการตอนกลางคืน เป็นอาการวิกฤติที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้น ซึ่งอาการจะไม่เหมือนกัน

3.ช่วงวันที่ 23 สิงหาคม พลตำรวจโท นายแพทย์โสภณรัชต์ สิงหจารุ ได้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ โดยพูดถึงปัญหาโรคความดันที่อ้างตัวเลข ตัวบนยัง 170 ตัวล่างยัง 115-120 โดยกลัวว่าพวกความดันสูงมากๆ เดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง และอ้างว่าทางอาจารย์หมอราชทัณฑ์ก็กลัวเรื่องนี้แต่จากข้อมูลที่แพทยสภาตรวจพบว่า วันที่ 23 สิงหาคม เวรเช้ามีความดันโลหิตที่ 150/100 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งแสดงว่าแพทย์โรงพยาบาลตำรวจได้รักษาผู้ป่วยจนอาการทุเลา วันที่25 สิงหาคม 2566 แพทย์ท่านนี้ได้มีการให้สัมภาษณ์ ว่ามีการตรวจ echoหัวใจ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตรวจปอดและหัวใจยังพบว่าอาการน่าเป็นห่วง แต่ข้อมูลที่ปรากฏในสำเนาเวชระเบียนกลับพบว่า ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ไม่ได้มีการบันทึกว่า การทำงานของปอดและหัวใจอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงหรือผิดปกติไปจากเดิม และพยาบาลที่บันทึกติดตามอาการของผู้ป่วยตลอดมาจนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ก็ไม่พบว่ามีสัญญาณชีพหรืออาการที่น่าเป็นห่วง

จะสังเกตพบว่าช่วงเช้าวันที่ 23 ส.ค.2566 ความดันโลหิตของนักโทษทุเวลาขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ นักโทษรายนี้ถูกส่งมาจากราชทัณฑ์ด้วยเกรงปัญหาโรคหัวใจขาดเลือด แต่เมื่อรักษาจริงตามเอกสารนี้มีแต่ปัญหาโรคความดัน ข้อมูลจากรายงานนี้ มีการอ้างความเป็นห่วงของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็ไม่สอดคล้อง เพราะการส่งตัวจากราชทัณฑ์ ไม่ได้พบแพทย์ มีแต่พยาบาลเวร

4.ในวันที่ 15 กันยายน 2566 ได้มีการออกใบรับรองแพทย์ (ช่วงครบ 30 วันตามกฏกระทรวง) โดยพลตำรวจโทนายแพทย์ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ซึ่งเป็นแพทย์ศัลยกรรมประสาท เขียนว่า

"การรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะต้องรักษาแผลที่ผ่าตัด ตรวจและวางแผนผ่าตัดโรคที่รายงาน จึงจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล"จากรายงานพบว่ามีการผ่าตัดนิ้วล็อค และแพทย์ที่ผ่าตัดได้ให้ถ้อยคำกับแพทยสภาว่า "การอยู่ในโรงพยาบาลของผู้ป่วย ไม่ใช่ปัญหาของด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ" และรายงานทางเวชระเบียบของแพทย์ผู้ผ่าตัด ก็ไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆรวมทั้งความเห็นของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย(แพทย์กระดูกและข้อ) ว่า โดยปกติการผ่าตัดนิ้วล็อคไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และไม่ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน

5.ส่วนกลุ่มอาการและโรคทางด้านอายุรศาสตร์ (โรคหัวใจ ความดัน ปอด) แพทย์ที่ทำการรักษาได้ให้ถ้อยคำว่า "เป็นโรคเรื้อรัง ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล" แสดงว่า โรคที่ถูกส่งตัวมา ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ประกอบกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า " จากข้อมูลที่ได้รับ โรค อาการ และอาการแสดงทางอายุรศาสตร์ ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตที่คุกคามต่อชีวิต หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤต ณขณะนั้น"

6.ปัญหาทางกระดูกสันหลัง แพทย์ที่รักษา ได้ให้ถ้อยคำว่า ปัญหาทางด้านกระดูกสันหลังมิใช่ภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นอาการทางด้านกระดูกสันหลัง จึงไม่มีเหตุที่ต้องถูกรับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาล

โดยสรุปแล้วการออกใบรับรองแพทย์ ในวันที่ 15 กันยายน 2566 จึงไม่มีกลุ่มอาการหรือโรคที่ต้องพักรักษาตัวต่อเนื่องในโรงพยาบาล เพราะสามารถรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอกได้

7.ได้มีการออกใบรับรองแพทย์ (ช่วงครบ 60 วันตามกฏกระทรวง) โดยพลตำรวจโทนายแพทย์ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ระบุ "ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน เพราะมีอาการปวดรุนแรง มือและแขนอ่อนแรง" ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย แจงว่า ไม่มีอาการปวดไหล่ขวามาก่อน ต่อมาได้มีการวินิจฉัยว่าเป็นไหล่ขวาฉีก ทางออร์โธปิดิกส์จัดว่า หากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ไม่ใช่ภาวะเร่งด่วน

8.โดยสรุปการออกใบรับรองแพทย์ทั้ง 2 ใบ ของนายแพทย์ท่านนี้ ซึ่งเป็นประสาทศัลแพทย์ ซึ่งไม่ใช่ผู้มีความชำนาญทางด้านกระดูกและข้อ จึงไม่ควรลงความเห็นแทนแพทย์กระดูกและข้อ ควรให้แพทย์เจ้าของไข้หรือแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นผู้ลงความเห็น

9.รายงานของแพทยสภา ไม่ได้พูดถึง การออกใบรับรองแพทย์ตามกฏกระทรวง ช่วง 120 วัน ว่าใครเป็นผู้ออก และออกด้วยเหตุผลอะไรนี่คือบทสรุปของรายงานแพทยสภา ที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่นักโทษชั้น14 รายนี้ ต้องนอนต่อเนื่องที่โรงพยาบาลตำรวจ อ่านจากรายงานก็พบว่า อาการทุเลาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2566 (นักโทษมาถึงรพ.ตำรวจ 23ส.ค.2566) ดังนั้นการที่จะมีแพทย์ มาให้ปากคำต่อศาล ถ้าแพทย์ท่านใด ให้ปากคำขัดแย้งต่อรายงานแพทยสภานี้ ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่ขัดแย้ง ท้ายที่สุดทุกอย่างจะชัดเจนเมื่อศาลท่านมีคำพิพากษา

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.