กยศ.ได้รับจัดสรรงบฯเพิ่ม 3,100 ล้านบาท ใช้ปล่อยกู้ปีการศึกษา 2568 จากที่ขอไปกว่า 1.1 หมื่นล้าน “ผู้จัดการกองทุน” รับยังไม่เพียงพอ เตรียมขอแปรญัตติงบฯปี’69 เพิ่มเติม พร้อมชี้แจงประเด็นร้อนโซเชียลปม “จ่ายหนี้ แต่หนี้ไม่ลด” ชี้เป็นไปตามการคำนวณหนี้ใหม่ตาม พ.ร.บ.กยศ. ฉบับที่ 2
นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,100 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนภารกิจในการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าปล่อยกู้ต่อเนื่องในปีการศึกษานี้ โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนการเรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน
ทั้งนี้ งบฯดังกล่าวมาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรอบวงเงิน 115,375 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค. มีมติเห็นชอบ
“การจัดสรรงบฯดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในทุนมนุษย์ โดยรัฐบาลมุ่งหวังให้การศึกษากลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับศักยภาพแรงงานไทย ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานที่มีคุณภาพและยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของผู้เกี่ยวข้องในภาคการศึกษา เช่น สถาบันการศึกษา ร้านค้า และบริการในชุมชน เป็นต้น”
นายวินิจกล่าวว่า ในปีการศึกษา 2568 นี้ กยศ.ยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั่วประเทศ โดยไม่มีการตัดสิทธิของผู้ที่เข้าเกณฑ์ตามระเบียบและกฎหมายเดิม แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรอง “ความยากลำบาก” ด้วยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลดิจิทัล เช่น รายได้ครัวเรือน สถานะผู้ปกครอง และข้อมูลภาครัฐอื่น ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น
ขณะเดียวกัน กยศ.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนด “สาขาที่ให้การสนับสนุนพิเศษ” โดยเน้นกลุ่มที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ เช่น ดิจิทัล เทคโนโลยีสีเขียว สุขภาพ และทักษะช่างฝีมือ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพและชำระหนี้ได้จริงหลังเรียนจบ ซึ่งเป็นการลดภาระหนี้เสีย และช่วยให้กองทุนสามารถหมุนเวียนเงินไปสู่รุ่นถัดไปได้อย่างยั่งยืน
ส่วนผู้ที่ชำระหนี้เกินจากยอดใหม่ สามารถยื่นขอเงินคืนได้ผ่านเว็บไซต์ของกองทุน ซึ่งในปีนี้ กยศ.ได้รับงบประมาณ เพื่อรองรับการคืนเงินราว 800 ล้านบาท จากยอดสะสมที่ต้องคืนประมาณ 3,000 ล้านบาท และได้เริ่มทยอยคืนแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี
ในด้านการติดตามหนี้ กยศ.ยังคงใช้แนวทาง “ส่งเสริมวินัย” มากกว่า “ลงโทษ” โดยเปิดทางให้ผู้กู้สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ผ่านระบบออนไลน์ ยืดระยะเวลาการชำระสูงสุดจนถึงอายุ 65 ปี เพื่อลดภาระรายเดือน โดยไม่คิดค่าปรับหรือดอกเบี้ยเพิ่มจากยอดกู้เดิม ซึ่งช่วยให้ลูกหนี้สามารถรักษาสถานะเครดิต และไม่ถูกฟ้องร้องหรือติดแบล็กลิสต์
นายวินิจกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กยศ.ยังเน้นย้ำความสำคัญของระบบ “หักเงินเดือน” ซึ่งปัจจุบันมีผู้กู้ในระบบมากกว่า 1.2 ล้านราย ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งต้องขอบคุณนายจ้างทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ในการหักชำระหนี้จากเงินเดือนของพนักงาน
ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า กยศ.ได้รับจัดสรรงบฯ จำนวน 3,100 ล้านบาท จากวงเงินที่เสนอขอไปกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการปล่อยกู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในปีการศึกษา 2568
“ตอนนี้กำลังดำเนินการขอแปรญัตติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปี 2569 เพื่อให้สามารถปล่อยกู้ได้ครบตามเป้าหมาย”
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวชี้แจงกรณีที่มีข้อร้องเรียนในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ยอดหนี้ของผู้กู้เพิ่มขึ้น ทั้งที่มีการชำระหนี้ต่อเนื่องนั้น เป็นผลจากการคำนวณหนี้ใหม่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กยศ. ฉบับที่ 2 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2566 โดยเปลี่ยนลำดับการชำระหนี้ใหม่ จากเดิมตัด “เบี้ยปรับ > ดอกเบี้ย > เงินต้น” มาเป็น “เงินต้น > ดอกเบี้ย > เบี้ยปรับ” พร้อมลดอัตราเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ต่อปี
ทั้งนี้ ภายในเดือน ก.ค.นี้ แอปพลิเคชั่นของ กยศ. จะสามารถแสดงยอดหนี้ที่อัพเดตตามระบบใหม่ได้แบบ “เรียลไทม์” โดยผู้กู้สามารถตรวจสอบยอดหนี้ ณ วันที่เข้าดูได้ทันที
“ช่วงที่ผ่านมา เรานำเงินที่ผู้กู้ชำระมาตัดเฉพาะเงินต้น ทำให้ยอดเงินต้นดูเหมือนลดเร็วมาก พอระบบใหม่เริ่มตัดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับตามลำดับตามกฎหมาย ผู้กู้จึงรู้สึกว่ายอดเงินต้นไม่ลดเร็วเหมือนเดิม ทั้งที่ยอดหนี้รวมยังเท่าเดิม ซึ่งตอนนี้ในระบบยังแสดงยอดถึงแค่วันที่ 31 พ.ค. แต่ภายในเดือน ก.ค. ทุกอย่างจะอัพเดตทั้งหมด”