เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการจัดกิจกรรมร่วมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม โดย “เครือมติชน” ได้จัดกิจกรรม “50 ปี ไทย-จีน The Golden Road : From Now to Eternity” ร่วมฉลองมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี้ยังเหลือกิจกรรมใหญ่อีก 2 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.การจัดเวทีเสวนาและการจัดเวิร์กช็อป ระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม เวลา 10.00-18.00 น. ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค กทม. และ 2.ดินเนอร์ทอล์ก วันที่ 22 กรกฎาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำหรับกิจกรรมระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค กทม. มีหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน ได้แก่ นิทรรศการ “Thai-Chinese Golden Fest 2025 จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน” จัดแสดงสายสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองประเทศผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ไปจนถึงโอกาสความร่วมมือในอนาคต โดยมีผู้เชี่ยวชาญร่วมนำชม พร้อมบรรยายเกร็ดประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้นตลอดทั้ง 3 วัน นำโดย สมชาย จิว, นริศ จรัสจรรยาวงศ์ และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นอกจากนี้ ยังจัดเต็มกิจกรรมเวิร์กช็อปและเสวนา 6 เวที
โดยหนึ่งในเวทีทอล์กที่น่าจับตา ได้แก่ เสวนาหัวข้อ “ประวัติจีนกรุงสยาม” นำโดย น.ส.พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, นายปริวัฒน์ จันทร, เจฟฟรี ซุน และนายสมชาย จิว ผู้ดำเนินรายการ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568
นายปริวัฒน์ จันทร นักเขียนและนักเดินทางเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน กล่าวว่า คำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ซึ่งคนจีนไม่เคยใช้คำนี้กับประเทศอื่น โดยนับตั้งแต่อดีตแถว จ.ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี เขาเรียกว่า “คอคอดกระ” ซึ่งเป็นทางเชื่อมคาบสมุทร เราจะเจอว่ามันเป็นสถานีทางการค้า
“มีหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก 2,000 กว่าปีมาแล้ว ที่ไทย-จีนอยู่บนเส้นทางการค้า มาถึงยุคสุโขทัย ก็มีการไปมาหาสู่ จีนค้าเรือสำเภา นำสินค้าจากจีนมายังทางนี้ และจากทางนี้ก็เอาสินค้าทางนี้ไป พอมาถึงในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งพระราชบิดาของพระองค์เป็นจีนโพ้นทะเล การที่พระองค์กู้เอกราชให้กับประเทศไทยในเวลานั้นก็มีกองทหารจีนแต้จิ๋วได้มาช่วยรบ ครั้งท่านสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นมาก็มีการอพยพของชาวจีนแต้จิ๋วระลอกใหญ่เข้ามา” นายปริวัฒน์กล่าว
นายปริวัฒน์กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยุคนั้นความสัมพันธ์ไทย-จีนเป็นความสัมพันธ์ที่เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาพอจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์เราก็เริ่มสะดุด ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการปิดโรงเรียนจีน ปิดสมาคม ปิดหนังสือพิมพ์จีน เรียกว่าความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลงไป
“จนกระทั่งปี พ.ศ.2518 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งท่านเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ไทย-จีนยุคใหม่ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 50 ปีไทย-จีน” นายปริวัฒน์ชี้
นายปริวัฒน์กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้จีนเป็นชาติมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลก ในบางมิติจีนเป็นอันดับ 1 ด้วยซ้ำไป ในเรื่องของประชากร พลังการบริโภค นวัตกรรม จนไปถึงลิขสิทธิ์ทางปัญญา
“สมัยผมเด็กๆ มีแต่สินค้าแบรนด์ญี่ปุ่น ทุกวันนี้เอาแบรนด์ให้ดู 30 แบรนด์เป็นแบรนด์จีนทั้งหมด ซึ่งทุกวันนี้จีนมีนวัตกรรมมากมายมหาศาล ล่าสุดที่ถล่มทลายตลาด AI ระดับโลกก็คือ DeepSeek ซึ่งจีนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ Search AI ขึ้นมาแล้วเราก็ใช้ได้อย่างดีมากด้วย อยากรู้เรื่องจีนเสิร์ชเข้าไปได้เลย” นายปริวัฒน์เผย
นายปริวัฒน์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จีนยังเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมเรื่องพลังงานสะอาดและอะไรอีกมากมาย โดยรายได้ต่อหัวประชากรจีนทุกวันนี้ 14,000 ดอลลาร์สหรัฐ/หัว ซึ่งเรียกว่าไม่มีความยากจนอีกแล้วในประเทศจีน และเขาอยู่กับธรรมชาติและนวัตกรรมค่อนข้างดี บ้านเมืองสะอาด ทุกอย่างเป็นระเบียบ
“ทุกวันนี้ถ้าเราไปประเทศจีน เราจะเห็นว่าประเทศจีนมีความปลอดภัยสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นี่คือจีนในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเราก็คงต้องเรียนรู้แล้วก็เป็นมิตรกับจีนเพราะเราใกล้กันและเป็นพี่น้องกัน” นายปริวัฒน์ชี้
นายปริวัฒน์กล่าวอีกว่า หากเราไปเยี่ยมชม Hall of Fame ของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจีน เฉาซาน จะมีห้องหนึ่งแสดงใบหน้าบุคคลสำคัญ หรือหอเกียรติยศ ท่านแรกที่ขึ้นจอคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
“หน้าต่อไปก็ยังมีบุคคลสำคัญอีก เช่น พระอนุวัฒน์ราชนิยม หรือยี่กอฮง ผู้ที่มีบทบาททางสาธารณกุศลสงเคราะห์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเผยอิง มูลนิธิโรงพยาบาลเทียนฟ้า มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งต่อมาก็แตกแขนงเป็นมหาวิทยาลัยหัวเฉียว โรงพยาบาลหัวเฉียวในยุคหลัง รวมถึงเจ้าสัวปรีชา พิสิษฐเกษม เจ้าสัวแต้จิ๋ว ผู้เปี่ยมด้วยจิตอันเป็นกุศล สร้างแต่สาธารณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองทั้งประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งบุคคลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเขาสร้างธุรกิจเติบโตมาแล้ว เขาไม่ได้สนใจแต่ตัวเอง เขาสนใจส่วนรวม เขาสนใจบ้านเมือง ไม่เฉพาะในบ้านเมืองที่เขามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย แต่ยังนึกถึงบ้านเกิดเมืองนอน” นายปริวัฒน์ระบุ
นายปริวัฒน์กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าหนังสือชุด “ประวัติจีนกรุงสยาม” ทำให้เราเหมือนกับได้อ่านประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์จีน ร้อยกลมเกลียวอยู่ในเล่มเดียวกัน แบ่งออกเป็น 3 เล่ม
“เล่มแรก คือ ยุคกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีตัวอักษรจีนกำกับ เริ่มต้นด้วยคำคมทุกบทเลย น่าอ่านมาก ส่วนเล่มที่ 2 คือ ยุคล่าอาณานิคม ซึ่งยุคนี้ล่อแหลมมาก ถือว่าตอนนั้นจีนเป็นคนป่วยของเอเชีย แล้วตะวันตกเข้ามามีบทบาท เจ้าสัวก็มีความขัดแย้งกัน ส่วนเล่มสุดท้าย คือ ยุคก่อร่างสร้างประเทศไทย หรือยุคปัจจุบัน ซึ่งใครที่ชอบเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม อยากรู้ความเป็นมาของแต่ละตระกูล รวบรวมมาให้แล้ว” นายปริวัฒน์เผย
นายปริวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับงาน Thai-Chinese Golden Fest ที่เครือมติชนจัดขึ้นในครั้งนี้ถือว่าลงตัวมาก เพราะว่าได้รวบรวมทุกเรื่องที่น่าสนใจ น่ารู้เกี่ยวกับจีนมารวมอยู่ในงานเดียว 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-13 กรกฎาคมนี้ เดินทางสะดวก True Digital Park ซึ่งคิดว่าใครที่อยากรู้เรื่องจีนกรุงสยามใน 1 ชั่วโมงครึ่ง
พลาดไม่ได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงาน ได้แก่ นิทรรศการ “Thai-Chinese Golden Fest 2025 จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่แสดงถึงสายสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองประเทศ ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ไปจนถึงโอกาสความ
ร่วมมือในอนาคต
โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจะร่วมนำชมนิทรรศการ พร้อมกับบรรยายเกร็ดประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้น นำโดย นายสมชาย จิว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน-ไทย, นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการอาวุโสผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ซึ่งจะเวียนนำชมนิทรรศการในวันที่ 11-13 กรกฎาคม ตามลำดับของการจัดงานตลอด 3 วัน
รวมถึงกิจกรรมเสวนา 6 เวที ได้แก่ เสวนาด้าน ‘ประวัติศาสตร์’ หัวข้อ “ไทย ‘ไม่มา’ จากจีน แต่จีน ‘มา’ จัดการไทย” นำโดย นายสุจิตต์ วงษ์เทศ และเสวนาหัวข้อ “ประวัติจีนกรุงสยาม” นำโดย น.ส.พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, นายปริวัฒน์ จันทร, เจฟฟรี ซุน และนายสมชาย จิว ผู้ดำเนินรายการ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568
ต่อมา กิจกรรมเสวนาด้าน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในวันที่ 12 กรกฎาคม ได้แก่ เสวนาหัวข้อ “TikTok Revolution: พลังครีเอเตอร์ที่เปลี่ยนโลกและวัฒนธรรมป๊อป” นำโดย พ่อมด TikTok, “จากกระบี่เย้ยยุทธจักรถึงสตรีมมิง: พลัง C-Pop และดาราจีน” นำโดย นายนนทรีย์ นิมิบุตร, นายปริภัณฑ์ วัชรานนท์, นายณัฐพร รุ่งขจรกลิ่น, น.ส.ปรภาว์ สมบัติเปี่ยม และนายสมชาย แซ่จิว ผู้ดำเนินรายการ
รวมถึงกิจกรรมเสวนาด้าน ‘ธุรกิจ’ ในวันที่ 13 กรกฎาคม ได้แก่ เสวนาหัวข้อ “Brand Go China: บุกจีนให้ปัง ธุรกิจไทยต้องรู้” นำโดย นายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี, น.ส.ณชา จึงกานต์กุล และนายอธิกร ศรียาสวิน ผู้ดำเนินรายการ, “Smart China 5.0 เมื่อ AI เปลี่ยนเกมธุรกิจ” นำโดย นายปฤณ จำเริญพานิช และนายกษิดิศ สตางค์มงคล เป็นต้น
วันเดียวกัน ที่หอดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี 2 ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพฯ ในโอกาสครบรอบ “620 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ
และครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน” มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ร่วมกับ 4 ภาคเครือข่าย จัดสัมมนาประเด็นด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ตามแนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประธานเปิดงานกล่าวสาระสำคัญ ความตอนหนึ่งว่า ความสัมพันธ์ไทยกับจีนมีมาช้านาน จีนเป็นประเทศมหาอำนาจโลกของการค้าการเศรษฐกิจ คนจีนคนไทยมิใช่อื่นไกลสืบเชื้อสายได้ถึงกัน วาระครบรอบ 620 ปีการเดินเรือของเจิ้งเหอ และครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน จึงเป็นหนึ่งบทพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในการรำลึกถึงประวัติศาสตร์แห่งการแลกเปลี่ยนทางทะเลและต่อยอดความร่วมมือระหว่างสองมิตรประเทศในมิติของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษาในบริบทร่วมสมัย อีกทั้งตลอดเวลา 50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เรายังได้เห็นการพัฒนาและขยายความร่วมมือในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม แบบเกื้อกูลอย่างชัดเจนกับหลักคิดของ Belt and Road Initiative ในยุคปัจจุบัน
“ครบรอบ 620 ปีการเดินเรือของเจิ้งเหอสู่ตะวันตก และ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ว่าด้วยวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการค้าภายใต้แนวคิด ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ก่อให้เกิดคุณค่าแก่สังคมและสถาบันการศึกษาในฐานะภาคีที่จะร่วมขับเคลื่อนร่วมรำลึกถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ของเจิ้งเหอที่ส่งผลต่อความเจริญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้วัฒนธรรมไทยและจีนในมิติต่างๆ คือ Soft Power ที่มีคุณค่าแก่มวลมนุษยชาติอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน” รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์กล่าว