กรมประมง ... น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินงานโครงการขยายผลการดำเนินงานประมงโรงเรียน
GH News July 14, 2025 01:10 PM

กรมประมง ... น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินงานโครงการขยายผลการดำเนินงานประมงโรงเรียน ตามพระราชดำริสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในรูปแบบ Mobile hatchery

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจติดตามการดำเนินงานโครงการภายใต้โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันหลายครั้ง นอกจากทรงติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนแล้ว ทรงห่วงใยราษฎรในชุมชน และมีพระราชดำริหลายคราในเรื่องการขยายผลการดำเนินงานของโรงเรียนให้เป็นจุดศูนย์กลางด้านการเกษตรและการประมงไปสู่ชุมชน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตามที่กรมประมงได้ดำเนินงานโครงการสนับสนุนด้านการประมงตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ดำเนินกิจกรรมประมงโรงเรียน และกิจกรรมฝึกอบรม โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านการประมงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของโรงเรียน อบรมให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้านโภชนาการและสาธิตการแปรรูปสัตว์น้ำ ตลอดจนติดตามและให้คำแนะนำทักษะด้านการผลิต และการจัดการผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกิจกรรมด้านการประมงถือเป็นการผลิตอาหารจำพวกโปรตีนที่สำคัญกิจกรรมหนึ่ง ที่ทำให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง อีกทั้งยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์น้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจติดตามการดำเนินงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันหลายครั้ง ทรงห่วงใยราษฎรในชุมชน และมีพระราชดำริหลายคราในเรื่องการขยายผลการดำเนินงานของโรงเรียนให้เป็นจุดศูนย์กลางด้านการเกษตรและการประมงไปสู่ชุมชน โดยครั้งเสด็จพระราชดำเนินศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทรงมีพระราชดำรัสให้นำชุดอุปกรณ์เพาะฟักแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) ไปใช้ในพื้นที่โรงเรียนเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำ

กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการขยายผลการดำเนินงานประมงโรงเรียนตามพระราชดำริสู่ชุมชนขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้จากโรงเรียนไปสู่นักเรียน และขยายผลไปสู่ชุมชน และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในโรงเรียนและชุมชน ในรูปแบบ Mobile hatchery มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำของชุมชนให้มีผลผลิตสัตว์น้ำที่เพียงพอต่อการบริโภค อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงอยู่ในธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปสู่ราษฎรในชุมชนต่อไป

การดำเนินงานโครงการมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และเทคโนโลยีด้านการประมงของนักเรียนและราษฎรในชุมชน รวมไปถึงเกษตรกรผู้สนใจในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้สามารถเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเองได้ เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำโรงเรียนและชุมชนด้วยเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำโดยใช้ชุดอุปกรณ์เพาะฟักแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) และเพื่อต่อยอดกิจกรรมประมงโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ราษฎรในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้แหล่งน้ำของชุมชน

โดยในปีงบประมาณ 2568 มีพื้นที่ดำเนินการในโรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้สถานศึกษาตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ จำนวน 10 แห่ง 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ พะเยา แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี สระแก้ว บึงกาฬ ยโสธร และจังหวัดนครศรีธรรมราช

โครงการจัดทำขึ้นเพื่อขยายผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมประมงโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ โดยใช้โรงเรียนเป็นจุดศูนย์กลางในการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชน ให้เพียงพอต่อการบริโภคและต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านการประมงสู่ราษฎรในชุมชน โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้

1) ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่นักเรียน ครู และชุมชน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจการดำเนินงานโครงการไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการให้ความรู้การเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำได้อย่างถูกต้อง วิธีการใช้ชุดอุปกรณ์เพาะฟักแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละกระบวนงาน

2) สำรวจพื้นที่แหล่งน้ำในโรงเรียนและแหล่งน้ำชุมชนที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำได้ตลอดทั้งช่วงการดำเนินงาน ผู้นำชุมชนและชุมชนมีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม มีการจัดตั้งกลุ่มและมีข้อกำหนดในการจัดการแหล่งน้ำชุมชนตลอดจนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำ

3) จัดเตรียมชุดอุปกรณ์เพาะฟักแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) พร้อมปัจจัยการผลิต สำหรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของโรงเรียน ชุมชน และขยายผลการดำเนินกิจกรรมไปยังโรงเรียนและชุมชนอื่นใกล้เคียงได้

4) ดำเนินการจัดทำอาหารธรรมชาติในแหล่งน้ำ ด้วยการทำคอกปุ๋ยหมัก ผลิตไรแดง หรือพืชน้ำชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มอาหารสัตว์น้ำ

5) ดำเนินการจัดเตรียมกระชังหรือสถานที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนก่อนปล่อยลงแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดให้สัตว์น้ำ พร้อมทั้งตรวจวัดคุณภาพน้ำ ได้แก่ ความเป็นกรด – ด่าง (pH) ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (DO) และอุณหภูมิน้ำ

6) ดำเนินการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำด้วยชุด Mobile hatchery

7) ดำเนินการอนุบาลลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง อัตรารอดสูง ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำโรงเรียนและชุมชน

8) เมื่ออนุบาลสัตว์น้ำให้มีขนาด 1 - 2 เซนติเมตร สามารถปล่อยลงแหล่งน้ำโรงเรียนและแหล่งน้ำชุมชนได้

9) สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้จากการอนุบาลให้แก่เกษตรกรในชุมชนไปเลี้ยง เพื่อเป็นอาหารไว้บริโภคทำให้ลดรายจ่าย หรือจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน

10) สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ติดตามและให้คำแนะนำแก่โรงเรียนและชุมชน ตลอดจนเกษตรกรที่ได้รับพันธุ์สัตว์น้ำไปเลี้ยง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และบรรลุวัตถุประสงค์โครงการ

โครงการดังกล่าวทำให้โรงเรียนและชุมชนมีผลผลิตสัตว์น้ำสำหรับบริโภคในโรงเรียนและครัวเรือนเพิ่มขึ้น ตลอดจนโรงเรียนสามารถต่อยอดและขยายผลกิจกรรมประมงโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการได้ต่อไป

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.