ท่ามกลางคลื่นสื่อ ไทยพีบีเอส ยังคงยืนหยัดในบทบาทของสื่อสาธารณะที่มุ่งมั่นรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กๆ ในชุมชน หรือเรื่องใหญ่ระดับโครงสร้าง รายการสถานีประชาชนไม่ได้เพียงทำหน้าที่ถ่ายทอดปัญหา แต่ยังพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
พิธีกรของรายการ ธิดารัตน์ อนันตรกิตติ และ ธีรเดช งามเหลือ นักข่าวภาคสนามที่ก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่หน้ากล้องเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้รับฟัง เข้าใจ และเชื่อมโยงเสียงของประชาชนสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
พื้นที่สาธารณะของประชาชนคนธรรมดา
ตลอดเวลากว่า 17 ปี รายการนี้เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างผู้ประสบปัญหา กับหน่วยงานรัฐหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะชุมชน การตามหาคนหาย ปัญหาบัตรประชาชน หรือแม้แต่การถูกหลอกลงทุนจากมิจฉาชีพแม้จะมีโครงสร้างคล้ายรายการข่าว รายการสถานีประชาชน กลับทำหน้าที่ที่ลึกซึ้งกว่านั้น โดยไม่เพียงรายงาน แต่ลงไปช่วยประสานงาน ให้ข้อมูล หาทางออก และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ธิดารัตน์ ย้ำว่า จุดแข็งสำคัญของไทยพีบีเอส คือการไม่มีโฆษณา ทำให้สามารถรายงานได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เกรงใจทุนหรือแบรนด์ใหญ่ใดๆ บทบาทของพิธีกรในรายการสถานีประชาชน เปรียบเสมือนผู้อำนวยความเป็นธรรม ทำหน้าที่ประคับประคองทุกฝ่ายให้พูดคุยกันได้ในเวทีเดียว รายการไม่ได้หาทางออกให้แค่ชาวบ้าน แต่ยังเปิดพื้นที่ให้คู่กรณีได้อธิบาย เข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน ทีมงานยืนยันในแนวทางที่มั่นคง ไม่ตัดสินใคร ไม่ใช้ถ้อยคำกล่าวหา ใช้เพียงข้อเท็จจริงในการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูด เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความยุติธรรมของสังคม
วิกฤตออนไลน์สู่การเปลี่ยนแปลงระดับชาติ
จุดเปลี่ยนเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมายมาร้องเรียน ความเสียหายประเมินมูลค่ารวมกันมากกว่า 80,000 ล้านบาท ธีรเดช เล่าว่า ตอนแรกพยายามประสานสื่ออื่นให้นำเสนอข่าวนี้ร่วมกัน แต่ไม่มีใครสนใจ จากการนำเสนอผ่านไทยพีบีเอสอย่างต่อเนื่อง จุดประกายให้สื่ออื่นเริ่มหันมาสนใจ รายการยังคงรักษาความถี่ในการรายงานไว้อย่างสม่ำเสมอ จัดเวทีจริงจัง ลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องภัยออนไลน์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงมากขึ้น จำนวนผู้เสียหายลดลงประมาณร้อยละ 20 ภาครัฐมีการผลักดันทางนโยบายจนมีพระราชกำหนดฉบับใหม่ว่าด้วยการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์
‘พลังพลเมือง‘ ที่เปลี่ยนสังคมได้จริง
สิ่งที่เห็นชัดจากการทำงานของรายการสถานีประชาชน จึงไม่ใช่แค่บทบาทของผู้สื่อข่าวหรือทีมงานในรายการเท่านั้น แต่คือพลังของ “ประชาชน” ที่พร้อมจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ แสดงความเห็น และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาในสังคม เมื่อประชาชนกล้าที่จะส่งเรื่องเข้ามา ทีมงานก็พร้อมเป็นกระบอกเสียง ขับเคลื่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการโดยเร็วที่สุด
รายการจึงไม่ใช่เพียงช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ แต่เป็นพื้นที่สาธารณะในการปลุกพลังของผู้ประสบปัญหาทำให้เห็นว่า “เสียงของเรา” มีพลังมากแค่ไหน เมื่อรวมกันแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการแชร์คลิป ย้อนดูเรื่องราว เตือนภัยให้คนอื่น หรือแม้กระทั่งมาร่วมเป็นเครือข่ายพลังพลเมืองผู้เฝ้าระวัง
นี่คือการเปลี่ยนคนดูให้กลายเป็น “นักสื่อสารทางสังคม” ร่วมกับรายการ และสร้างเครือข่ายพลังพลเมืองที่มีความรู้ มีสิทธิ และมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของสื่อสาธารณะ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่รายงานข่าวเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนลุกขึ้นมาเป็น “พลังพลเมือง” ที่ร่วมเปลี่ยนสังคมให้น่าอยู่ขึ้น