ทำไมต้องมี กกต.
ในทุกการเลือกตั้งของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เราจะได้ยินชื่อองค์กรหนึ่งเสมอ นั่นคือ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กกต." แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า กกต. คือใคร ทำหน้าที่อะไร และทำไมจึงมีความสำคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
กกต. คือใคร?
กกต. คือ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ประกอบด้วย กรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภามีหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง โปร่งใส และซื่อสัตย์สุจริต โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งและปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามหน้าที่กฎหมายกำหนดหรือที่กฎหมายกำหนดหรือ กกต. มอบหมาย ซึ่งมีเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้บังคับบัญชา
กกต. มีหน้าที่อะไร?
1. จัดหรือดำเนินงานให้มีการเลือกตั้งระดับชาติระดับท้องถิ่นและการออกเสียงประชามติ นี่คือหน้าที่หลักที่ประชาชนคุ้นเคยมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงการออกเสียงประชามติ กกต. ต้องดูแลการให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
2. ควบคุมดูแลพรรคการเมือง
กกต. ตรวจสอบการจัดตั้งพรรคการเมืองการบริหารงาน การระดมทุน และค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
3. ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครและการเลือกตั้ง
หากพบว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีการทุจริต กกต. มีอำนาจสอบสวนและสั่งเพิกถอนสิทธิ์หรือสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่
4. รณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน
เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กกต. ทำหน้าที่รณรงค์และเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิ หน้าที่ และความสำคัญของการเลือกตั้ง รวมถึงจัดกิจกรรมประชาธิปไตยในโรงเรียนชุมชน
5. สอบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
หากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง หรือความไม่โปร่งใส กกต. มีอำนาจในการสอบสวนไต่สวนและดำเนินการตามกฎหมาย
ประชาชนมีความเกี่ยวข้องอย่างไร?
แม้ กกต. จะเป็นองค์กรอิสระ แต่ประชาชน คือ หัวใจของการเลือกตั้ง เพราะอำนาจของกกตจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความรู้เข้าใจสิทธิของตนเองใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างมีวิจารณญาณ และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง
โดยสรุปแล้ว
กกต. มีไว้เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นธรรมเพื่อให้คนดีเข้าสู่ตำแหน่ง และเพื่อให้เสียงของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริง หากไม่มี กกต. การเลือกตั้งก็อาจไร้ความชอบธรรม ขาดความโปร่งใส และไม่เป็นที่ยอมรับในฐานะพลเมืองชาวไทย เราควรรู้จัก กกต. ไม่ใช่แค่ในวันเลือกตั้ง แต่ควรติดตาม ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้มั่นคงอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน