เช็กด่วน!! ETDA เปิด 4 ประกาศใหม่ ภายใต้กฎหมาย DPS เสริมกลไกดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘ตลาดสินค้าออนไลน์-Ride Sharing’
วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เปิดเผยว่า ETDA ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) ได้ดำเนินการจัดทำร่างประกาศ ที่เป็นกฎหมายลูกภายใต้กฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมศักยภาพกลไกการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส ปลอดภัย เป็นธรรม มีมาตรการในการดูแลเยียวยาผู้ใช้บริการสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยเมื่อเร็วนี้ๆ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ประกาศทั้งหมด 4 ฉบับ ภายใต้กฎหมาย DPS ที่ครอบคลุมทั้ง บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้าออนไลน์ และประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ (Ride Sharing) ดังนี้
1. ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ธพด. 4/2568 เรื่องกำหนดรายชื่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 (มีผลบังคับใช้ 9 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป) สาระสำคัญคือ การประกาศรายชื่อแพลตฟอร์มประเภทตลาดสินค้า (Online Marketplace) ที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินและพาณิชย์ ความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และมีผลกระทบในระดับสูง ตามมาตรา 18 (2) จำนวน 19 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1. ช้อปปี้ (Shopee) 2. ลาซาด้า (Lazada) 3. วันทูคาร์ (One2car.com) – ประกาศซื้อขายรถยนต์มือสอง 4. แกร็บ (Grab) 5. ขายดี (Kaidee.com) 6. เอสไอเอ อี-อ๊อกชันซิสเต็ม (SIA E-AUCTION SYSTEM) 7. ไลน์ช้อปปิ้ง (LINE SHOPPING) 8. อาลีบาบา (Alibaba) 9. น็อกน็อก (NocNoc) 10. อาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress) 11.ดิสช็อป (Thisshop) 12. รักเหมา (Rakmao) 13. เถาเป่า (Taobao) 14. เอสซีจี โฮม (SCGHome) 15. วันสยาม แอปพลิเคชัน (ONESIAM Application) 16. เรดดี้พลาสติก อ็อกชัน (ReadyPlastic Auction) 17. รูทส์แพลตฟอร์ม (ROOTS Platform) 18. เทอมู (TEMU) 19 .อีเบย์ (eBay) เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มตามรายชื่อข้างต้น ถือเป็นแพลตฟอร์มประเภทตลาดสินค้าออนไลน์ที่เข้าข่ายมี ความเสี่ยงสูงและอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ที่มีมูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มจากการให้บริการในราชอาณาจักรเกิน 100 ล้านบาท/ปี หรือ ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือ DBD และมีจำนวนผู้ประกอบการในราชอาณาจักรตั้งแต่ 100 ราย หรือ ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือ DBD และมีจำนวนผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรเกินกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่เกินร้อยละ 10 (เฉลี่ยต่อเดือน) หรือ ผู้ใช้บริการสามารถกระทำการใดโดยไม่มีมาตรการควบคุมดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณชนในรูปแบบข้อความหรือการกระทำ เป็นต้น โดยพิจารณาจากข้อมูลการประกอบธุรกิจที่แพลตฟอร์มแจ้งเข้ามาที่ ETDA ซึ่งทั้ง 19 แพลตฟอร์ม นอกจากหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย DPS แล้ว จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 20 ได้แก่ มีหน้าที่ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งมีมาตรการการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว และการดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ขายก่อนอนุญาตให้มีการขายหรือโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้า, การตรวจสอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนอนุญาตให้มีการขายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้า พร้อมทั้งแสดงข้อมูลดังกล่าวบนหน้าร้านค้า, การให้มีกลไกการแจ้งเตือนและนำออกสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และบทลงโทษต่อผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัลอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม หาก ETDA พบว่าเข้าเกณฑ์ก็จะมีการประกาศรายชื่อเพิ่มต่อไป ตามที่มาตรา 24 ที่กำหนดให้ต้องมีการ “ทบทวนรายชื่อ” แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นประจำทุกปี ซึ่งหมายความว่า รายชื่ออาจมีการ เพิ่ม ลด หรือปรับเปลี่ยน ได้ตามลักษณะการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป
2. ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การดำเนินการอื่นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า ที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (2) แห่ง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2568 (มีผลบังคับใช้ 31 ธันวาคม 2568) สาระสำคัญ คือการกำหนดหน้าที่เพิ่มเติม ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า (Online Marketplace) ที่เป็นพื้นที่กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (2) ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินและพานิชย์ ที่ความเสียหายอาจกระทบต่อสาธารณะ และมีผลกระทบในระดับสูง จะต้องหน้าที่เพิ่มเติมภายใต้ประกาศฉบับนี้ เช่น เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม, การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการด้วยระบบที่น่าเชื่อถือ ต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลตามความเหมาะสม, การตรวจสอบการขายหรือการโฆษณาสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานของสินค้า แจ้งเตือนผู้ประกอบการเกี่ยวกับการขายสินค้า การลบ ระงับ หรือปิดกั้น สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การแสดงข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด แสดงใบจดแจ้ง หรือ หลักฐานการรับรองมาตรฐาน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมอ. อย. การรายงานผลการดำเนินการต่อหน่วยงานรัฐ จัดให้มีกระบวนการแจ้งเตือนและนำออก (Notice and Take down) ต้องแจ้งเตือน และระงับการแสดงรายการสินค้า ชื่อผู้ขาย และดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และแจ้งหน่วยงาน ภายใน 3 วัน มีบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น ยุติหรือระงับการให้บริการ พร้อมมีมาตรการดูแลเยียวยาผู้เสียหาย เป็นต้น
3. ประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง การดำเนินการอื่นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ ที่มีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 18 (3) แห่ง พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2568 (มีผลบังคับใช้ 2 ตุลาคม 2568) สาระสำคัญคือ การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ (Ride Sharing) ต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากหน้าที่ทั่วไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องจัดให้ผู้ขับรถบริการด้วยรถที่จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ และต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ตามเงื่อนไขของกรมการขนส่งทางบก, ต้องจัดเก็บค่าบริการตามอัตราที่กฎหมายกำหนด, จัดให้มีบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในส่วนของผู้ขับ ที่อย่างน้อยๆ ต้องมีการตรวจสอบผู้ขับ จัดเก็บข้อมูล มีการพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้ขับรถบริการ เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัว หมายเลขใบอนุญาตขับรถสาธารณะ เลขทะเบียนรถ จังหวัดที่จดทะเบียน, ใช้ ThaID ของกรมการปกครองช่วยพิสูจน์ตัวตนผู้สมัครขับรถในกรณีที่สมัครแบบไม่เจอหน้า, ต้องมีการยืนยันตัวตนคนขับทุกครั้งที่ใช้งานแพลตฟอร์มในการให้บริการ และเมื่อคนขับให้บริการในแต่ละครั้งต้องแสดงข้อมูล เช่น ชื่อคนขับ เลขใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ข้อมูลรถ ตำแหน่ง GPS รถที่ให้บริการ, เมื่อผู้ใช้เรียกรถและกำหนดสถานที่รับส่งแล้ว ต้องแสดงข้อมูล ตำแหน่งสถานที่รับส่ง ระยะทาง เส้นทาง ระยะเวลาเดินทาง อัตราค่าโดยสาร, ผู้ขับต้องสามารถเลือกรับงาน ยกเลิกงาน หรือเลือกยอมรับการเปลี่ยนจุดหมายปลายทางระหว่างไปรับคนโดยสาร, มีช่องทางในการขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังแพลตฟอร์มได้ทันที และต้องมีช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการให้บริการ, มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูล การพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ให้บริการที่เรียกรถ และต้องสามารถเลือกประเภทรถยนต์รับจ้าง วิธีการชำระค่าบริการ มีช่องทางในการติดต่อคนขับได้ในระหว่างที่เดินทางมารับ โดยไม่แสดงข้อมูลส่วนบุคคลให้อีกฝ่ายทราบ เว้นแต่ชื่อ รูปถ่ายของผู้ขับ, ต้องมีมาตรการกำกับดูแลผู้ขับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้รถสาธารณะ เช่น ให้บริการในพื้นที่ที่กำหนด ไม่นำบัญชีผู้ใช้บริการไปให้ผู้อื่นใช้งาน, มีการตรวจสอบ และติดตามผู้ขับที่กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย มีมาตรการในการลงโทษที่กำหนดในเงื่อนไขการให้บริการอย่างชัดเจน และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ และต้องยื่นรายงานการดำเนินงานตาม มาตรา 22 ต่อกรมขนส่งทางบกและ ETDA พร้อมรายงานประจำปี ต่อเนื่องทุกปีตามที่กฎหมายกำหนด
4. ประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ธพด. 2/2568 เรื่องกำหนดบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทบริการรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 21 แห่งพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 (ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2568 เป็นต้นไป) มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภท Ride Sharing ตามมาตรา 18 (3) ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ สุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม พลังงาน การสื่อสารและโทรคมนาคม การขนส่งและโลจิสติกส์ และสาธารณูปโภค มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 21 ที่ต้องมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยง มีมาตรการการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว และการดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการร่วม
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดประกาศฉบับเต็มทั้ง 4 ฉบับ รวมถึงติดตามรายละเอียดประกาศ และคู่มือต่างๆ ภายใต้กฎหมาย DPS ได้ที่เว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/law.aspx สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-123-1234 (ติดต่อทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS)