รฟท.เปิด3 แนวทางสู้ข้อพิพาท 'เขากระโดง' ทวงสิทธิที่ดิน 995 แปลง
GH News July 15, 2025 06:07 PM

‘การรถไฟ’ เดินหน้างัด 3 แนวทางสู้คดีดึงคืน ‘ที่ดินเขากระโดง’ พร้อมจ่อถก ‘มหาดไทย-กรมที่ดิน’ เพิกถอนคำสั่ง-ลุยใช้โมเดลที่ดินรถไฟ  ‘พังงา-ท่านุ่น’ ยื่นอุทธรณ์ฟ้องศาลปกครองฯ หวังทวงคืนที่ดิน 995 แปลง กลับมาเป็นของรัฐ ย้ำจะไม่ยอมเสียที่ดินแม้แต่ตารางวาเดียว

15 ก.ค. 2568 – นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทบนพื้นที่เขากระโดง ว่า  ขณะนี้ศาลปกครองได้พิจารณาคำร้องของ รฟท. โดยรับพิจารณา 2 ประเด็นข้อหาจากที่ รฟท. ได้ยื่นไปใน 4ประเด็นข้อหา สำหรับ 2ประเด็นประกอบด้วย ประเด็นที่ รฟท.มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน และ ประเด็นที่ รฟท.มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของของอธิบดีกรมที่ดินและคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย

 นอกจากนี้ ยังพบว่าที่ผ่านมาในช่วงที่ รฟท.ขอยื่นอุทธรณ์นั้น ศาลไม่รับพิจารณาคำขอให้เพิกถอนสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 995 แปลง เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องเดิมที่ศาลเคยมีคำวินิจฉัย จนมีการออกประกาศตามมาตรา 61 ไปแล้ว แต่เมื่อต้นปี 68  รฟท. ได้ยื่นอุทธรณ์ในเรื่องการเพิกถอนที่ดิน 995 แปลง ต่อศาลปกครองสูงสุด คาดว่าศาลฯจะรับพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งการยื่นอุทธรณ์นี้อาจใช้เวลานาน 5-6 เดือน และอาจเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

 “หากศาลไม่เข้าใจเจตนาของ รฟท. ในการขอให้เพิกถอนที่ดินอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ รฟท. กำลังพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าจะถอนอุทธรณ์หรือไม่ แต่ต้องการความชัดเจนว่าศาลจะเข้าใจประเด็นการเพิกถอนตรงกัน เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ” นายวีริศ กล่าว

นายวีริศ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางคู่ขนาน เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง ทาง รฟท.จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 การดำเนินการผ่านกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน  ปัจจุบัน รฟท. เตรียมส่งหนังสือขอทบทวนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินเพื่อยุติเรื่องนี้ ไปยังกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมในคดีนี้  ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะกลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง หากพบว่ามีการดำเนินการที่ผิดพลาดก่อนหน้านี้ กรมที่ดินอาจยกเลิกคำสั่งดังกล่าวด้วยตนเอง ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินเขากระโดงในการที่กรมที่ดินยกเลิกเอกสารสิทธิ์ต่างๆ

ขณะที่แนวทางที่ 2 รฟท. จะใช้โมเดลการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณพังงา-ท่านุ่น เพื่อยื่นอุทธรณ์ฟ้องศาลปกครองสูงสุด โดยรฟท. ต้องการให้ศาลปกครองเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของที่ดิน 995 แปลงที่บนเขากระโดง ในลักษณะเดียวกันกับกรณีที่ดินที่พังงา-ท่านุ่น ซึ่งที่นั่นศาลเคยมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของผู้บุกรุกหลายร้อยไร่ให้กลับมาเป็นของ รฟท. เมื่อปีที่ผ่านมา มาแล้ว ซึ่งในกรณีที่ดินที่พังงา-ท่านุ่น มีลักษณะคล้ายคลึงกับเขากระโดงที่มีเอกสารสิทธิ์หลากหลาย ทั้งโฉนดและ สทบ. และศาลได้สั่งยุบเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด

ส่วนแนวทางที่ 3 นั้นทางรฟท.จะขออัยการสูงสุดของศาลยุติธรรม ฟ้องคดีดังกล่าวแทน รฟท.เนื่องจากปัจจุบัน รฟท.มีข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากรในการฟ้องร้องคดีจำนวนมาก โดยที่ผ่านมา รฟท. ได้ส่งหนังสือถึงอัยการสูงสุด ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน ดำเนินการฟ้องร้องคดีบนที่ดิน 995 แปลง แทน รฟท. ซึ่งหากอัยการสูงสุดตกลงดำเนินการ จะช่วยลดภาระของ รฟท. ได้อย่างมาก เนื่องจากคดีเหล่านี้อาจใช้เวลาหลายปีในการฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม รฟท. ยังคงรอคำตอบจากอัยการสูงสุด ท้ายที่สุดหากไม่เป็นผล รฟท. อาจต้องพิจารณาฟ้องร้องที่ถือครองสิทธิ์บนที่ดิน 995เอง โดยจะจัดลำดับความสำคัญของที่ดินและทยอยฟ้องเป็นล็อตๆ ไป

“ปัญหาที่ดินเขากระโดงมีความซับซ้อน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งชาวบ้าน กลุ่มนายทุน และหน่วยงานรัฐ แต่ รฟท. ยังคงยืนยันหลักการเดิมว่าที่ดินเขากระโดงเป็นของ รฟท. อย่างสมบูรณ์ เรายืนยันจะไม่ยอมเสียที่ดินเขากระโดง แม้แต่ตารางวาเดียวแน่นอน ซึ่งรฟท. อยู่ระหว่างดำเนินงการในทุกแนวทางที่เป็นไปได้” นายวีริศ กล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.