"สมาคมฟินเทค" ต้องการเห็นอะไรจากรัฐบาล เพื่อสร้างให้ไทยเป็น Fintech Hub
GH News July 22, 2025 12:09 AM

นายชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.วีบูลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย เผยว่า ปี 2568 เป็นช่วงที่คนไทยเริ่มตระหนักถึงความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศที่การใช้จ่ายลดลงไปเรื่อย ๆ ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่ไม่มีท่าทีจะดีขึ้น รายได้ภาคบริการดิ่งลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างน่าใจหาย และจากปัจจัยความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก เกี่ยวกับมาตรการทางภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ ผสมกับสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่านที่ทวีความรุนแรงขึ้น คำถามคือ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เราต้องการเห็นนโยบายหรือมาตรการอะไรจากรัฐบาลไทยบ้าง

ทั้งนี้เพื่อสร้างให้ไทยเป็น Fintech Hub โดยต่อยอดจาก พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็น Fintech Hub ของภูมิภาค ที่เชื่อมโยงระหว่างฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกอยู่แล้ว โดยที่กลยุทธ์หลักคือ การดึงดูดผู้ประกอบการด้านฟินเทคจากต่างประเทศให้มาลงทุนในไทย เพื่อเจาะตลาดในประเทศที่มีจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน ซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกับบริการด้านการเงินผ่านแอปพลิเคชันอยู่แล้ว นอกจากนี้ไทยยังสามารถเป็นฐานในการขยายไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้อีกด้วย

การจะเชิญชวนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจด้านฟินเทคในประเทศไทยนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการทางด้านภาษีและวีซ่ามาดึงดูดทั้งบริษัทและคนทำงาน เช่น สิทธิพิเศษด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก BOI ที่สร้างมาเพื่อ Fintech Track โดยเฉพาะ การกำหนด Fintech/Digital Nomad Visa ควบคู่กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราประมาณ 20% ซึ่งใกล้เคียงกับฮ่องกงและสิงคโปร์ เป็นต้น

หลังจากมีมาตรการจูงใจให้ผู้เล่นด้านฟินเทคเข้ามาไทยแล้ว รัฐบาลควรจัดคณะทำงานเพื่อเดินทางไปยังประเทศผู้นำด้านฟินเทคเพื่อทำการ Roadshow ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, จีน+ฮ่องกง, สิงคโปร์, อินเดีย พร้อมกับการจัดงานสัมมนาด้านฟินเทคขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพื่อแสดงศักยภาพให้กับผู้ประกอบการด้านฟินเทคในต่างประเทศได้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน Digital Asset ที่ไทยเราเริ่มออกนโยบายเพื่อส่งเสริมธุรกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการไม่เก็บภาษีจากกำไร (Capital Gain) เป็นเวลาถึง 5 ปี แนวทางที่อาจจะให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับ Cryptocurrency และ Investment Token ได้ในแอปพลิเคชันเดียวกัน รวมถึงการที่รัฐบาลจะออก Government Token เพื่อระดมทุนคล้ายกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ นอกจากนี้ เราควรดึงดูดผู้เล่นจากต่างประเทศให้เข้ามาสร้างบริการเกี่ยวกับ Open Banking Data ภายใต้นโยบาย Your Data ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนานโยบายดังกล่าว เพื่อให้ผู้ใช้งานให้ความยินยอมในการแชร์ข้อมูลทางการเงินไปยังผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น โดยผู้พัฒนาแอปพลิเคชันอาจออกแบบบริการในการรวมสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของผู้ใช้งาน เพื่อบริหารหนี้สินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจออกแบบบริการในการรวมสินทรัพย์การลงทุนทั้งหมด เพื่อให้คำแนะนำในการจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนแบบ Asset Allocation

ข้อได้เปรียบที่ประเทศอื่นซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินไม่มีแบบประเทศไทยคือ ค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป มีอาหารที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีสถานที่ท่องเที่ยว และชีวิตยามค่ำคืนที่หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทำงานสายเทคโนโลยี และเป็นสถานที่ซึ่งคนทำงานในแวดวงการเงินอยากที่จะแวะมาเยี่ยมเยียนเป็นประจำ ดังนั้น เราควรจัดหาสถานที่ซึ่งไม่ไกลจากกลางเมืองกรุงเทพฯ มาสร้างให้เป็น Fintech Street หรือ Fintech Zone เพื่อให้เป็นแหล่งรวมคนในวงการฟินเทค และใช้เพื่อทดสอบบริการด้านฟินเทคตามนโยบาย Fintech Sandbox ของหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งต้องการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการหรือปริมาณธุรกรรมสำหรับบริการด้านฟินเทคที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบอย่างละเอียด ก่อนที่จะใช้เป็นการทั่วไป 

สิ่งที่สังคมจะได้จากการมี Fintech Hub คือ คนไทยจะได้มีโอกาสทำงานกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องในระดับภูมิภาค แถมยังสามารถร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาในการฝึกงานกับบริษัทระดับโลกอีกด้วย โดยในระยะยาว ทรัพยากรบุคคลเหล่านี้จะสามารถสร้างธุรกิจฟินเทคของตัวเองได้ เพื่อต่อยอดพัฒนาการด้านฟินเทคของไทยไปอีกขั้น เมื่อคนไทยมีความพร้อมและประสบการณ์ด้านฟินเทคแล้ว รัฐบาลเองก็ควรสนับสนุน Fintech Start-Up ผ่านมาตรการ Matching Fund เพื่อลงทุนไปพร้อมกับ Venture Capital ที่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกจากรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลก็ควรให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนบุคคลประเภท Angel Investor เพื่อสร้างระบบนิเวศที่พร้อมสำหรับการพัฒนาด้านฟินเทคอย่างยั่งยืน

ผมเชื่อมั่นว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับ Financial Hub และ Fintech Hub จะทำให้เราสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศให้กลับมาอยู่ในเส้นทางที่ควรจะเป็นได้ และถ้าใช้ควบคู่กับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project ได้ ก็จะยิ่งเป็นเหมือนสองเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้เป็นอย่างดี

 

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.