'พายุวิภา' ทำน้ำล้นเขื่อน! สทนช. เตรียมระบายเจ้าพระยา เร่งรับมือ
bangkokbiz July 23, 2025 07:50 AM

(22 ก.ค. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 9/2568 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำจากอิทธิพลของ "พายุวิภา" และร่องมรสุมที่คาดว่าจะส่งผลให้มีฝนตกหนักทั่วประเทศ

พายุ "วิภา" จ่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เร่งพร่องน้ำสำรองพื้นที่รองรับ

ดร.สุรสีห์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า พายุ "วิภา" จะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ในช่วงวันที่ 23 - 31 กรกฎาคม นี้ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งจำนวนมาก อาทิ

  • อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ : คาดการณ์น้ำเข้า 1,373 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
  • อ่างเก็บน้ำวชิราลงกรณ : คาดการณ์น้ำเข้า 1,267 ล้าน ลบ.ม.
  • อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ : คาดการณ์น้ำเข้า 472 ล้าน ลบ.ม.

เพื่อเตรียมพร้อมรับมือปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น สทนช. ได้เร่งดำเนินการพร่องน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบไปแล้วล่วงหน้า เพื่อสร้างพื้นที่ว่างสำหรับรองรับน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจะติดตามและปรับแผนการจัดสรรน้ำตามสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง

 

\'พายุวิภา\' ทำน้ำล้นเขื่อน! สทนช. เตรียมระบายเจ้าพระยา เร่งรับมือ
 
 

เฝ้าระวังแม่น้ำสายหลักตอนบน แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า แม่น้ำหลายสายในตอนบนของประเทศมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะ

  • แม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย : บริเวณสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 1 ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง
  • แม่น้ำอิงและแม่น้ำกก : มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในบางจุด แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • แม่น้ำปิง (สะพานนวรัฐ จังหวัดเชียงใหม่) : มีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
  • แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำโขง : คาดว่าจะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยง ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย และลุ่มน้ำโขงเหนือ จังหวัดเชียงราย ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับความพร้อมอย่างเต็มที่แล้ว และที่ประชุมในวันนี้ยังมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) เพิ่มเติม ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำยม - น่าน ณ จังหวัดสุโขทัย เพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำหลากและอุทกภัยในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

\'พายุวิภา\' ทำน้ำล้นเขื่อน! สทนช. เตรียมระบายเจ้าพระยา เร่งรับมือ

เร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เตือนประชาชนท้ายเขื่อน เตรียมรับมือ

ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ของภาคเหนือที่เพิ่มขึ้นกำลังทยอยไหลลงมาบรรจบที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่งผลให้มีมวลน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยกรมชลประทานได้แจ้งปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 700 - 1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยจะควบคุมการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนและคำนึงถึงการขึ้นลงของน้ำทะเล

ในช่วงเย็น (22 ก.ค. 68) จะปรับเพิ่มการระบายน้ำจากอัตรา 800 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็นอัตรา 900 ลบ.ม. ต่อวินาที ที่ประชุมได้เน้นย้ำให้มีการ แจ้งเตือนประชาชนบริเวณท้ายเขื่อนล่วงหน้า หากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเตรียมพร้อมรับมือ

วางแผนรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ เตรียมผันน้ำเข้าพื้นที่หน่วงน้ำ

ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2568 ประกอบกับภาวะน้ำทะเลหนุน โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านจุดสำคัญต่างๆ ดังนี้

  • สถานี Y.4 อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย : ควบคุมที่ 460 ลบ.ม. ต่อวินาที หากเกินจะผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม
  • จังหวัดนครสวรรค์ : ควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกิน 2,500 ลบ.ม. ต่อวินาที หากเกินจะผันน้ำเข้าพื้นที่หน่วงน้ำเหนือจังหวัดนครสวรรค์และบึงบอระเพ็ด
  • เขื่อนเจ้าพระยา : ควบคุมร่วมกับการบริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทาน ไม่ให้เกิน 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที หากเกินจะผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งตะวันออก
  • สถานี C.29B อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี : ควบคุมไม่ให้เกิน 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที หากเกินจะดำเนินการรับน้ำเข้าพื้นที่น้ำนอง

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับกำชับให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด

สทนช. เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง และติดตามร่องมรสุมต่อเนื่อง

ในส่วนของสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ สทนช. ได้มีการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์และประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่นำไปดำเนินการเพื่อลดผลกระทบให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำว่า หลังจากพายุ "วิภา" สลายตัว จะยังคงต้องติดตามความต่อเนื่องและความรุนแรงของร่องมรสุมที่มีโอกาสพาดผ่านประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยจะประเมินสถานการณ์แบบรายวันเพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.