ส.อ.ท. โยนโจทย์ ผู้ว่า ธปท. คนใหม่ เร่งแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ลุยเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการหนี้ครัวเรือนและหนี้เอสเอ็มอี ดำเนินการด้านการเงินที่ยืดหยุ่น ปรับดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
23 ก.ค. 2568 – นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสิ่งที่ต้องการให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่เร่งดำเนินการ ว่า ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน นโยบายด้านการเงิน หรือ Monetary Policy ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็นจากนายวิทัย รัตนากร ผู้ว่า ธปท. ท่านใหม่เป็นเรื่องแรก ๆ คือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งสะสมมานานตั้งแต่วิกฤตโควิดจนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่หาได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผู้ประกอบการรายย่อยต่างประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและต้องปิดกิจการ
รวมถึงปัญหาหนี้นอกระบบยังคงซ้ำเติมประชาชนและนำไปสู่ปัญหาลูกโซ่ทางสังคม ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า คนไทยมีหนี้นอกระบบและในระบบรวมกันอยู่ถึง 104% ต่อ GDP การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบจึงควรถูกยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ แบงก์ชาติต้องบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ธนาคาร และกลุ่ม Non-Bank ในการแก้ไขปัญหา เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ การส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการสร้างหนี้ที่มีคุณภาพ เสริมสร้างวินัยทางการเงิน และการวางแผนหนี้สินอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำอีกในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ภาคการส่งออกและอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด
ดังนั้น ธปท.ต้องดำเนินนโยบายด้านการเงินที่มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีทรัมป์ และช่วยในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ทั้งในด้านการปรับตัวของ Supply Chain และการหาตลาดใหม่เพิ่มเติม ที่สำคัญธปท.ต้องเข้ามากำกับดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป หรือมีความผันผวนสูง ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมผู้ส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า (Trade War) ในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของนายวิทัย รัตนากร ว่าที่ผู้ว่าแบงก์ชาติท่านใหม่ จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายทางการเงินและมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน และยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนี้ได้