‘พินิจ’ เหมา 20 ชุด ‘ประวัติจีนกรุงสยาม’ สภาวัฒนธรรมไทย-จีน ยกขบวนดินเนอร์ฉลอง 50 ปีไทย-จีน
GH News July 23, 2025 10:03 AM

‘พินิจ’ เหมา 20 ชุด ‘ประวัติจีนกรุงสยาม’ สภาวัฒนธรรมไทย-จีน ยกขบวนดินเนอร์ฉลอง 50 ปีไทย-จีน

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่เพลนารีฮอลล์ 1 (Plenary Hall 1) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ เครือมติชน จัดงาน Exclusive Dinner Talk 50 ปี ไทย-จีน The Golden Road : From Now to Eternity เนื่องในวาระของการครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 16.30 น. แขกผู้มีเกียรติจากหลากหลายแวดวง เดินทางมาถึง อาทิ นายธนวัฒน์ ปัญญาสกุลวงศ์ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน), นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายนริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์, นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน

นายสุรชัย เลิศธนกุล และนางสาวศศิพิมล แก้วทวีทรัพย์ ประธานบริหารบริษัท ระฆังทองพลาสติก จำกัด

รวมถึง สภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ นำโดย นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฯ สภาฯ, นายสุเทพ รุ่งวิทยนันท์ รองประธานฯ, นายสมชาย ศุภสัญญา รองประธานฯ, และพล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ เป็นต้น

ในการนี้ ผู้บริหารในเครือมติชน นำโดย นางสาวปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ นายพินิจ ได้ร่วมชมนิทรรศการ ‘จีนไทย ก้าวไปด้วยกัน’ “Thai-Chinese Golden Fest 2025 เทศกาลร้อยเรื่องราวไทย-จีน” โดยมี นายสมชาย แซ่จิว นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน–ไทย และ นายจุมพฏ สายหยุด ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมนำชม

จากนั้น นายพินิจ และคณะได้ร่วมชมบูธจากสำนักพิมพ์มติชน พร้อมเลือกซื้อหนังสือ ‘(ปกอ่อน) หนังสือชุด ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese’ ผลงาน เจฟฟรี ซุน และพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร จำนวน 20 ชุด พร้อมรับของแถมและของที่ระลึก ก่อนเข้าร่วมดินเนอร์ทอล์ก

สำหรับหนังสือชุด ประวัติจีนกรุงสยาม A History of the Thai-Chinese (ปกอ่อน) มีเนื้อหา ดังนี้

ในเล่มที่ 1 ชื่อว่าสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์, เล่มที่ 2 ชื่อว่ายุคล่าอาณานิคม และเล่มที่ 3 ชื่อว่ายุคก่อร่างสร้างประเทศไทย

กล่าวถึง คนไทยเชื้อสายจีน เจ๊ก ลูกจีน หลากนิยามที่ใช้เรียกผู้สืบเชื้อสายจากบรรพชนชาวจีน ซึ่งอพยพเข้ามาในไทยในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19

อย่างไรก็ดี คนไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบัน ไม่ได้มีเฉพาะคนที่บรรพบุรุษโล้สำเภาเข้ามาตั้งถิ่นฐานและก่อร่างสร้างตัวในเมืองสยามช่วงรัชกาลที่ 5 เท่านั้น

ประเทศไทยกับคนจีนมีสัมพันธ์โยงใยสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ ระเบียบประเพณี ภาษา และอิทธิพลของศิลปกรรมจีน ความสำคัญของคนจีนโดดเด่นยิ่งขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลูกจีน รวบรวมบ้านเมืองที่กระจัดกระจายให้เป็นปึกแผ่น แล้วก่อตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นมา แม้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงปลายรัชสมัยจะทำให้กษัตริย์ไทยเชื้อสายจีนต้องตกจากบัลลังก์ คนจีนอื่นๆ ที่ไม่ได้โดดเด่นเท่าก็ไต่เต้าขึ้นมาเป็นเจ้าสัวผู้ร่ำรวยภายใต้ระบอบศักดินา

การมาถึงของเรือปืนตะวันตกก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ หลังเกิดสงครามฝิ่น คนจีนตอนใต้พากันอพยพมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเรือกลไฟที่บรรทุกผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปฏิรูปประเทศในรัชกาลที่ 5 ณ เวลานั้น คนจีนอพยพจำนวนมหาศาลข้ามน้ำข้ามทะเลมาหางานทำในสยามประเทศ สมประโยชน์กับนโยบายของกษัตริย์สยามที่ต้องการจะสร้างความเป็นสมัยใหม่ กระนั้นประชากรจีนอพยพที่เพิ่มมากขึ้น กอปรกับปัญหาต่างๆ ที่พ่วงติดมาเป็นเงาตามตัว ได้สร้างความกังวลใจให้แก่ทั้งรัฐบาลกษัตริย์และรัฐบาลคณะราษฎร เกิดเป็นความพยายามที่จะสร้างสำนึกจงรักภักดีให้เกิดแก่คนจีน ในยุคที่ชนชั้นนำพยายามจะสร้างรัฐชาติไทยภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยม

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยเหนือพรรคชาตินิยมจีน (ก๊กมินตั๋ง) รวบรวมประเทศที่แตกแยกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และปิดประตูจากโลกภายนอก คนจีนที่อพยพออกจากประเทศเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนจึงหมดหนทางหวนคืนแผ่นดินเกิด ในเวลานี้ ชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มลงหลักปักฐานแน่แล้ว และเป็นช่วงเดียวกับที่ชาวจีนบางส่วนเข้าไปสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับระบบราชการไทย ไม่ก็สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นจากการเป็นแรงงานอิสระ จนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐไทยอย่างมิอาจมองข้ามได้

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.