ปตท. เร่งสปีดสู่ Sustainability
SUB_TIK September 20, 2024 10:40 AM

ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กก.ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานบอร์ด ปตท. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กรรมการ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน กรรมการอิสระ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร และผู้บริหาร ปตท.ได้เปิดเผยทิศทางการทำงานของ ปตท.ว่า จะเดินหน้าภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” บนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” เพื่อให้ ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลที่ดีมีธรรมาภิบาล

ซีอีโอ ปตท.เผยว่า จะเดินเครื่องธุรกิจ Hydrocarbon ที่เป็นธุรกิจหลักของ ปตท.ที่ทำได้ดี แต่จะไม่ทำแบบเดิม ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ในธุรกิจต้นน้ำและพลังงาน จะเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิตร่วมกับพันธมิตร ผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ขณะที่ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและลดคาร์บอนให้กับกลุ่ม ปตท.

ส่วนธุรกิจปลายน้ำ จะปรับตัวสร้างความแข็งแรงร่วมกับพันธมิตร ทั้งนี้ ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกนั้นจะร่วมกับธุรกิจของคนไทยที่มีความคล่องตัว ปรับพอร์ตการลงทุนให้มี Substance ลดการถือครองทรัพย์สิน รวมถึงการรักษาการเป็นผู้นำตลาด ควบคู่กับธุรกิจ Nonhydrocarbon โดยประเมินใน 2 มุม คือ 1) ต้องมีความน่าสนใจ (Attractive) และ 2) ปตท.มี Right to Play หรือมีจุดแข็ง เข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้น ๆ ได้ และมีพันธมิตรที่แข็งแรง

แนวทางการลงทุนในธุรกิจ Nonhydrocarbon ในเรื่องที่เกี่ยวกับ EV ปตท.จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ “ชาร์จจิ้ง” สำหรับรถไฟฟ้า ซึ่งต้องควบรวมแบรนด์ต่าง ๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. และใช้ปั๊มของ OR ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์

ธุรกิจ Logistics ปตท.จะเน้นไปเฉพาะธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของ ปตท. และมีความต้องการเฉพาะอยู่แล้ว โดยยึดหลักถือครองทรัพย์สินน้อย Asset-light และมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง

ธุรกิจ Life Science ปตท.จะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน และสร้างกู๊ดวิลให้กับสังคม ทั้งนี้ ปตท.มีแผนการสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS)

ในเรื่องของพลังงานทางเลือก ปตท.จะนำไฮโดรเจนไปผสมในก๊าซธรรมชาติ ตามที่กำหนดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP 2024) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ปตท. รวมถึงการดักจับคาร์บอน ได้เริ่มทำแซนด์บอกซ์ ดึงเอาคาร์บอนจากก๊าซแหล่งก๊าซอาทิตย์ไปกักเก็บ

ทั้งนี้ ปตท.ได้นำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานการจัดการพลังงานเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ โรงงานผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่บริษัท ยามานิชิไฮโดรเจน จังหวัดยามานิชิ ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังทำโครงการ Green Transformation โดยสร้างชุมชนที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนและมีโรงงานผลิตไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ได้ Green Hydrogen และจำหน่ายต่อไป

ที่น่าสนใจคือ ระบบงานโรงงานเผาขยะ เมกุโระ ที่กรุงโตเกียว เป็นโรงงานกลางเมืองกลางชุมชน สร้างเสร็จแทนโรงงานเดิมเมื่อ 2023 ด้วยแนวคิดคำนึงถึงชุมชน ลดการรบกวนจากกลิ่น เสียง รับขยะได้วันละ 600 ตัน เข้าเตาเผาความร้อน 800 องศา ความร้อนจากเตาเผาส่งไอน้ำเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีกำลังผลิต 21,500 กิโลวัตต์ ส่วนเถ้าขยะนำไปถมพื้นที่ต่าง ๆ และถมทะเล

อีกแห่งคือ โรงงานเผาขยะและรีไซเคิลซูรูมิ ของมิตซูบิชิ เฮฟวี่อินดัสทรี ที่โยโกฮามา เผาขยะได้วันละ 1,200 ตัน จาก 3 เตาเผา นำไอน้ำไปผลิตไฟฟ้า 22,000 กิโลวัตต์ นำไปใช้ในโรงงานและนำส่วนเกินไปขายบริษัทไฟฟ้า น้ำที่ผ่านการบำบัดนำไปใช้ในระบบโรงงาน โปรเจ็กต์เด่นของที่นี่ คือการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะ เพื่อนำไปเข้ากระบวนการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

เป็นแนวทางใหม่ในการจัดการ สร้างและใช้พลังงาน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.