เพิ่มขีดแข่งขัน-กำกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ความท้าทายบทใหม่ ETDA
SUB_TIK September 20, 2024 05:45 PM

เป็นเวลากว่า 14 ปีที่ “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” หรือ “ETDA” ขับเคลื่อนงานด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ และผลักดันการก้าวสู่ “สังคมดิจิทัล” ผ่าน 2 บทบาท ได้แก่ “Regulator” กำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลภายใต้กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปกับการเป็น “Promoter” ส่งเสริมรัฐ เอกชน และเอสเอ็มอี (SMEs)

ภายใต้เป้าหมายใหญ่ 30 : 30 ทั้งการเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เพิ่มเป็น 30% ของ GDP และพาประเทศไทยขึ้นสู่ 30 อันดับแรกของโลกด้านความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลภายในปี 2570 จากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 35

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานของ ETDA ภายใต้การนำทัพของ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ผ่านวาระแรกไปแล้ว (ปี 2564-2567) และกำลังก้าวสู่ความท้าทายใหม่ ที่นอกจากต้องสานต่อภารกิจเดิมยังต้องรับมือกับภารกิจร้อนอย่างการกำกับดูแพลตฟอร์มต่างชาติที่เข้ามาทำตลาดในไทยอีกด้วย

สรุปผลงานวาระแรก

ดร.ชัยชนะกล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมา ETDA ดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสามารถด้านดิจิทัลของไทยผ่าน 4 มิติหลัก ประกอบด้วย 1.Digital Infrastructure & Ecosystem การวางรากฐานอีโคซิสเต็มรองรับการให้บริการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ตั้งแต่ Digital ID Framework กรอบใหญ่สู่การมีกลไกการกำกับดูแล ภายใต้กฎหมาย Digital ID โดยมีผู้ให้บริการ Digital ID ได้รับใบอนุญาตแล้ว 12 ราย รวม 16 ใบอนุญาต ทั้งยังสนับสนุนการเชื่อม Digital ID กับการให้บริการภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ (Government e-Service) แล้ว 449 บริการ ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องบนโซเชียลมีเดียผ่านแคมเปญ MEiD

2.Digital Service Governance กำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มความโปร่งใส เป็นธรรมในการให้บริการภายใต้ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (กฎหมาย DPS หรือ Digital Platform Services) ผลักดันให้มีแพลตฟอร์มแจ้งข้อมูลยืนยันตัวตนแล้ว 1,813 แพลตฟอร์ม มีแนวปฏิบัติที่จะนำไปสู่การกำกับตนเองที่ช่วยลดฉ้อโกงออนไลน์ ทั้งเสริมศักยภาพการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล ให้มีศูนย์ธรรมาภิบาลเอไอ หรือ AIGC (AI Governance Center) ทั้งการให้คำปรึกษาระดับองค์กร

3.Digital Adoption & Transformation ยกระดับงานเอกสารภาครัฐ สู่อิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e-Saraban และ e-Signature) พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมผ่าน Digital Service Sandbox ที่มีบริการผ่านทดสอบแล้ว 8 ราย และมีการวิเคราะห์คาดการณ์อนาคต จากข้อมูลที่วิจัย และสังเคราะห์โดยศูนย์ Foresight Center และศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลภายใน ETDA ที่่สามารถทำรายงานประจำปี เช่น มูลค่าอีคอมเมิร์ซ ผลการศึกษาอนาคตด้านเทคโนโลยี เป็นต้น

และ 4.Digital Workforce, Literacy & Protection เพิ่มแรงงานดิจิทัลคุณภาพสู่ตลาดผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น พัฒนาทักษะแรงงานเฉพาะด้านดิจิทัล สู่ตลาดแรงงาน 12,406 คน ผ่านการอบรมทั้งระดับผู้บริหารจนถึงปฏิบัติการ

4 โจทย์ใหญ่ ปี 2568

ดร.ชัยชนะกล่าวต่อว่า การทำงานในวาระที่ 2 จะเน้นที่การใช้งานเทคโนโลยีในทุกภาคส่วน ต่อยอดอีโคซิสเต็มที่ได้วางรากฐานเอาไว้ ภายใต้แนวคิด “ก้าวที่มั่นคง เพื่อชีวิตดิจิทัลที่มั่นใจ” ขยายการใช้งานดิจิทัลเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมผ่าน 4 โจทย์ใหญ่ ได้แก่

1.การต่อยอด Digital Infrastructure and Ecosystem เน้นงาน 4 กลุ่มสำคัญ คือ 1.1 เสริมศักยภาพโครงสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ 1.2 เพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล 1.3 เสริมการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างปลอดภัย และ 4. พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ให้บริการผ่าน Innovation Sandbox

2.เร่งกลไก Digital Service and Governance ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมสำหรับการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านกลไกทั้งมาตรฐาน และแนวปฏิบัติ เพื่อให้เกิดอีโคซิสเต็มที่จะช่วยลดความเสี่ยงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ ผนวกการวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม เพิ่มช่องทางร้องเรียนสายด่วน 1212 ETDA เพื่อรองรับเรื่องร้องเรียนของแพลตฟอร์มขนาดเล็ก

3.เสริมความเข้มข้น Digital Adoption and Transformation ผลักดันให้เกิดการใช้ Digital ID เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะบริการรัฐที่ตั้งเป้าเชื่อมระบบให้ได้ 80% ภายในปี 2568 พร้อมส่งเสริมการใช้งานติดสปีด SMEs ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทางธุรกิจ

4.เพิ่มประสิทธิภาพ Digital Workforce, Literacy & Protection เพิ่มปริมาณแรงงานเฉพาะด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ ตั้งเป้า 9 หมื่นคนในปี 2570 ทั้งเพิ่มรายได้ชุมชนและลดการว่างงาน ตั้งเป้าปี 2570 มีชุมชนเข้าร่วม 1 พันแห่ง เสริมสร้างให้คนไทยเท่าทันเทคโนโลยีและภัยออนไลน์ต่อเนื่อง

กำกับแพลตฟอร์มต่างชาติ

ดร.ชัยชนะอธิบายถึงบทบาทในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของแพลตฟอร์มต่างชาติว่า ต้องแยกออกเป็นส่วน ๆ และแก้ปัญหาไปทีละขั้น ซึ่งแต่ละปัญหาก็มีความเข้มข้นในการกำกับดูแลแตกต่างกัน เช่น ปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพ แพลตฟอร์มไม่มีตัวตนในไทย ติดต่อไม่ได้เวลาเกิดปัญหา หรือมีอำนาจเหนือตลาด เป็นต้น

สำหรับประเด็นสินค้าไม่ได้คุณภาพจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ETDA จึงเตรียมออกประกาศภายใต้กฎหมาย DPS เพื่อให้สินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องมีมาตรฐานเดียวกับสินค้าของผู้ประกอบการไทย ซึ่งกำกับภายใต้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 144 รายการ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะนำไปรับฟังความเห็นในเดือน ต.ค. 2567

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2 ปีก่อน ETDA และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เพื่อควบคุมการดำเนินธุรกิจของแพลตฟอร์มต่างชาติให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรียุคนั้นไปแล้ว แต่มีการถกเถียงกันของฝั่งที่เห็นด้วยกับการกำกับดูแล และฝั่งที่กังวลว่าหากเข้มงวดจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมในไทย

“บทบาทของ ETDA ในการทำงานเพื่อจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา คือการเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีประเด็นแพลตฟอร์มต่างชาติ เราทำงานกับหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ และอื่น ๆ หรืออย่างการประท้วงเรื่องสวัสดิการของไรเดอร์ ก็ทำงานกับกระทรวงแรงงาน มีทั้งการผลักดันกฎหมาย และการไกล่เกลี่ยรายเคส เช่น ไรเดอร์ถูกแพลตฟอร์มปิดระบบในการรับงาน เป็นต้น”

หนุนผู้ประกอบการไทย

นอกจากการทำงานด้านกฎหมายเพื่อจัดการกับอำนาจเหนือตลาดของผู้ค้าต่างชาติ ETDA ยังมีความตั้งใจในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถการแข่งขันเพิ่มขึ้นในยุคที่การค้าขายข้ามพรมแดนระหว่างกันได้ง่าย

ดร.ชัยชนะมองว่า ขั้นแรกของการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยต้องเริ่มจากระบุให้ได้ว่า สินค้าที่ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบผู้ประกอบการต่างประเทศมีอะไรบ้าง จำแนกออกมาเป็นหมวดหมู่ จัดทำข้อมูลเป็นแค็ตตาล็อก เพื่อดูว่าคู่แข่งของสินค้าแต่ละประเภทเป็นใคร แล้วเข้ามาด้วยวิธีใด เพื่อที่จะได้จัดการปัญหาอย่างถูกต้อง และผลักดันสินค้าไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศอย่างเหมาะสม

“ปัญหาอีกอย่างที่เจอในหมู่ผู้ประกอบการไทย คือ เรื่องขาดแคลนเงินทุน ซึ่ง ETDA ไม่ได้มีบทบาทในการให้ทุนโดยตรง แต่สามารถเชื่อมแหล่งเงินทุนของหน่วยงานต่าง ๆ เข้ากับผู้ประกอบการได้ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีมาใช้ในการลดของเสียในระบบ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ”

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.