K Research คงเป้าจีดีพี ปีนี้ 2.6% ดาวน์ไซด์เอฟเฟ็กต์ 'น้ำท่วม' สินเชื่อโตต่ำ 1.5%
Ton_Online September 20, 2024 09:40 PM

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงเป้าจีดีพีปีนี้โต 2.6% แต่มีดาวน์ไซด์จากผลกระทบน้ำท่วม เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัว อุปสงค์ในประเทศอ่อนแรง และค่าเงินบาทผันผวนสูง คาดการณ์มูลค่าความเสียหายน้ำท่วม 2.6-3 หมื่นล้าน ชี้บาทแข็งกระทบ “ส่งออก-ท่องเที่ยว” หน้าไฮซีซั่น ชี้หนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับสูงระดับ 89% ต่อจีดีพีไปอีก 3 ปี ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ความเสี่ยงภาคการเงิน กดดันการบริโภคครัวเรือน พร้อมคาดสินเชื่อคงค้างของแบงก์ปีนี้โตไม่เกิน 1.5% คิดเป็นสัดส่วน 0.5-0.6% ของจีดีพี ถือว่าต่ำมาก สินเชื่อรายย่อยโตแค่ 0.3% สินเชื่อบ้านโต 1.2% สินเชื่อเช่าซื้อติดลบ 5.5%

วันที่ 20 กันยายน 2567 นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (K Research) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2567 อยู่ที่ 2.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ GDP ไทยจะมีอัตราเร่งตัวขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ภาคท่องเที่ยวที่เข้าสู่ไฮซีซั่น และภาคส่งออกที่มีแนวโน้มสูงกว่าคาด

โดยได้ปรับประมาณการตัวเลขส่งออกปีนี้ขยับขึ้นจากเดิมเติบโต 1.5% มาเป็น 2.5% แต่อย่างไรก็ตามยังคงมุมมองความเสี่ยงต่อภาคส่งออก ไม่ว่าจะเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลง และขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดลง

ทั้งนี้ประมาณการจีดีพีไทยที่เติบโต 2.6% ในปีนี้ ยังมีดาวน์ไซด์จากผลกระทบน้ำท่วม เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลง อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแรง รวมถึงค่าเงินบาทที่ผันผวนแข็งค่าเร็ว

 

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยเวลานี้จมอยู่ท่ามกลางปัญหา โดยมี 4 เรื่องหลักที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่จะกระทบในช่วงที่เหลือของปีคือ

1. น้ำท่วม โดยจนถึงตอนนี้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบน้ำท่วมต่อการบริโภคและการผลิตไม่ต่ำกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ฤดูฝนยังเหลืออีกกว่า 1 เดือน สำหรับภาคกลางและภาคใต้ หากสถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงขึ้น มีโอกาสที่มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มสูงเป็น 3 หมื่นล้านบาท ประเด็นนี้จะยังกระทบต่อการผลิตและการบริโภค และกระทบต่อโรงงาน วัตถุดิบ และภาคท่องเที่ยว

2. ค่าเงินบาทผันผวนสูง ตอนนี้แข็งค่าเร็วและเกิดขึ้นในจังหวะที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของภาคท่องเที่ยวและส่งออก ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและส่งออกไป โดยเฉพาะธุรกิจเกษตรแปรรูป รวมถึงเรื่องท่องเที่ยวที่ส่งผลทางจิตวิทยาสำหรับนักท่องเที่ยวที่แลกเงินมาแล้วก็อาจจะใช้จ่ายในประเทศไทยได้น้อยลง ประเด็นนี้อาจจะเป็นผลกระทบในมุมธุรกิจเพิ่มเติม

3. ความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ ซึ่งผู้ผลิตไทยเจอการแข่งขันรุนแรงขึ้น จากสินค้านำเข้าและโรงงานต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานในไทย โดยจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์คาดว่าจะเห็นการปิดโรงงานเกิดต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่แข่งขันไม่ได้ เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เหล็ก รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 4. ต้นทุนเพิ่ม จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในระยะเวลากระชั้นจะมีผลต่อการเตรียมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม เกษตร และบริการร้านอาหาร

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ถือว่ายังอยู่ในระดับสูง แม้จะปรับลดลงมาบางส่วนจากช่วงโควิด-19 โดยคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ระดับหนี้ครัวเรือนไทยจะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 89% ต่อจีดีพี แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นระดับที่สูง สาเหตุจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ประเด็นความเสี่ยงของภาคการเงิน กดดันการบริโภคครัวเรือน

และสถานการณ์หนี้ครัวเรือนสูงนั้น จะทำให้มีความเสี่ยงเชิงระบบ ในแง่ที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังเป็นขาขึ้นอยู่ รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อลดลง

โดยคาดว่าปิดปี 2567 สินเชื่อคงค้างในระบบธนาคารพาณิชย์ จะเติบโตไม่เกิน 1.5% คิดเป็นสัดส่วน 0.5-0.6% ของจีดีพี ถือว่าต่ำมาก ถ้าถอยไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วสัดส่วนตรงนี้อยู่ที่ 1-1.5% ของจีดีพี สะท้อนว่าถึงจุดที่ปัญหาเชิงโครงสร้างส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและเด้งกลับมากระทบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ประเมินการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยแค่ 0.3% สินเชื่อบ้านโต 1.2% และสินเชื่อเช่าซื้อ ติดลบ 5.5%

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.