ศึกประลองกำลัง Virtual Bank ส่องท่าทีแข่งขันต่อแบงก์ดั้งเดิม-น็อนแบงก์
BIG_FIN September 21, 2024 12:20 PM

ศึกประลองกำลัง Virtual Bank กับท่าทีการแข่งขันต่อกลุ่มธนาคารดั้งเดิม-น็อนแบงก์ “บล.เอเซีย พลัส” ชี้แนวทาง ธปท. ต้องการเน้นกลุ่ม unserved/underserved ประเมินแบงก์แข่งไม่ได้รุนแรงขึ้นจากปัจจุบัน ส่วนผลต่อกลุ่มน็อนแบงก์จะเริ่มจับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อไม่มีหลักประกัน คาด KTC กระทบต่ำกว่า AEONTS เพราะจับฐานลูกค้าระดับบนกว่า มองได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มจำนำทะเบียนรถที่ต้องใช้สาขาในการดำเนินธุรกิจ

วันที่ 21 กันยายน 2567 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า ภายหลังวันที่ 19 ก.ย. เป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทางสื่อในประเทศรายงานกลุ่มที่ยื่นขอใบอนุญาต ได้แก่

  • กลุ่ม KTB+ ADVANC+ OR
  • กลุ่ม SCB+ KakaoBank (เกาหลีใต้) + WeBank (จีน)
  • กลุ่ม BBL+ BTS (VGI) + Sea Group (จากสิงคโปร์ เจ้าของ Shopee) + เครือสหพัฒน์ + ไปรษณีย์ไทย
  • กลุ่ม Lighthub Asset + WeLab (ฟินเทคจากฮ่องกง)

ทั้งนี้รายชื่อข้างต้น อิงตามที่ปรากฎบนสื่อในประเทศ ซึ่งยังต้องติดตามการประกาศผู้ยื่นขอใบอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก ธปท. ต่อไป โดยภายหลังปิดคำรับขอ ทาง ธปท. และกระทรวงการคลัง จะใช้ระยะเวลาพิจารณา 9 เดือน ก่อนประกาศผลช่วงเดือน มิ.ย. 2568 และเริ่มเปิดดำเนินการช่วงเดือน มิ.ย. 2569

ความเห็นของฝ่ายวิจัย ภายใต้แนวทางของ ธปท. ที่ต้องการให้ช่วงมี Virtual Bank เพียง 3 แห่ง เนื่องจากรายชื่อข้างต้นมีความพร้อมด้านเงินทุน (ทุนจดทะเบียนของ Virtual Bank ที่ 5 พันล้านบาท และเพิ่มสู่ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าสู่การให้บริการอย่างเต็มรูปแบบใน 3 – 5 ปี)

ทำให้น้ำหนักการพิจารณาของ ธปท. น่าจะอยู่ที่แผนธุรกิจของ Virtual Bank ในการเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่ม unserved/underserved ผ่านการใช้ฐานข้อมูลที่หลากหลาย ในมุมฝ่ายวิจัยมองว่ากลุ่ม KTB ที่มีฐานข้อมูลทั้งจากเป๋าตัง ผู้ใช้บริการ AIS และ OR และความเชี่ยวชาญด้านระบบค่อนข้างได้เปรียบ

ขณะที่กลุ่มที่เหลือให้น้ำหนักไปที่กลุ่ม BBL ที่มาพร้อมกับ BTS ร่วมกับพันธมิตรที่มีจุดเด่นแตกต่างกันไปอย่าง Sea Group ที่เคยทำ Virtual Bank ในต่างประเทศและมีฐานข้อมูลผู้บริโภคบน

Shopee พร้อมข้อมูลจากเครือสหพัฒน์และไปรษณีย์ไทย ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนรับฝาก / ถอนเงิน ในช่วงต้นของการเริ่มดำเนินการ Virtual Bank

ส่วนกลุ่มที่เหลือฝ่ายวิจัยมองว่า พร้อมด้านเทคโนโลยีแต่อาจเสียเปรียบกลุ่มข้างต้นในด้านฐานข้อมูล

สำหรับผลต่อประมาณการในปี 2569 แม้ปกติช่วงปีแรกของการดำเนินธุรกิจ มีโอกาสยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน แต่ผลกระทบต่อประมาณการปี 2569 ไม่สูง เป็นไปตามสัดส่วนการถือหุ้นใน Virtual Bank

ขณะที่ระยะถัดไปหากอิงการ Leverage ระหว่างสินทรัพย์เทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น พบว่าค่าเฉลี่ยหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (8 ธนาคาร) สิ้นงวดไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ราว 7.9 เท่า ภายใต้ทุนจดทะเบียนหมื่นล้านบาท ประเมินขนาดสินทรัพย์เบื้องต้นช่วงแรกแต่ละแห่งจะได้ประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท

ซึ่งกรณีที่กำหนดสมมติฐาน ROA เท่ากับค่าเฉลี่ยกลุ่มครึ่งปีแรกที่ 1.2% (สูงสุดคือ TISCO ที่ 2.4%) แปลงเป็นกำไรในช่วผ่านจุดคุ้มทุนของ Virtual Bank ได้ที่ 948 ล้านบาท หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายบริหารเงินกองทุน (Tier-1 ขั้นต่ำเกณฑ์เดียวกับธนาคารแบบดั้งเดิมที่ 11%) เพื่อรองรับการขยายตัวด้านสินทรัพย์ต่อไป

ทั้งนี้จุดเด่นของ Virtual Bank คือการไม่มีสาขา ภายหลังเริ่มมี Economies of scale ช่วยให้ Cost to income ratio อยู่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ส่วน Credit cost ขึ้นอยู่โมเดลในการพิจารณาสินเชื่อของแต่ละ Virtual Bank

ด้านการแข่งขันต่อกลุ่มธนาคารดั้งเดิม หลังเปิดดำเนินการในปี 2569 หากมี 3 แห่ง อิงขนาดสินทรัพย์ตามการประเมินข้างต้น (รวมกัน 2.4 แสนล้านบาท) จะคิดเป็นสัดส่วนราว 1.1% ของสินทรัพย์กลุ่มสิ้นงวดไตรมาส 2/2567

อีกทั้งช่วงแรกแนวทางของ ธปท. ต้องการเน้นไปยังกลุ่ม unserved/underserved จึงประเมินการแข่งขันไม่ได้รุนแรงขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก ส่วนผลต่อกลุ่มน็อนแบงก์มองว่าการเข้ามาของ Virtual Bank ช่วงต้นจะเริ่มด้วยการจับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อไม่มีหลักประกันเป็นหลัก (อาทิ กลุ่มบัตรเครดิต / สินเชื่อบุคคล KTC กระทบต่ำกว่า AEONTS เพราะจับฐานลูกค้าระดับบนกว่า) จึงประเมินได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มจำนำทะเบียนรถที่ต้องใช้สาขาในการดำเนินธุรกิจ

คำแนะนำลงทุนต่อกลุ่มธนาคารด้วย SETBANK นับจากต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) เพิ่ม 4.9% เทียบ SET บวก 2.8% (ถูกฉุดด้วย BBL กับ BAY) ทำให้ราคาหุ้นอัพไซด์ยังจำกัดต่อมูลค่าพื้นฐานปี 2567 (KBANK, TISCO ใช้ FV ปี 2568) จึงมองว่าการรออัพไซด์ต่อราคาหุ้นเริ่มเปิดในระดับ 5-10% จะเป็นจุดน่าสนใจเข้าลงทุน เพื่อรอแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 รวมทั้งอัตราเงินปันผลราว 4.4-8.3% ยังจูงใจ คงเลือก KBANK(Outperform ราคาเป้าหมายปี 2568 ที่ราคา 160 บาท และ KTB ราคาเป้าหมายสิ้นปีนี้ที่ราคา 19.8 บาท ยังเป็น Top pick กลุ่มจากการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ทำได้ดีกว่ากลุ่ม

ด้านกลุ่มน็อนแบงก์เล่นตามธีมวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง เลือก MTC (Outperform) เป็น Top pick กลุ่มเพราะการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ดีกว่ากลุ่มจำนำทะเบียนรถอื่น ตามด้วย TIDLOR (Outperform) และ SAWAD (Neutral)

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.