ญี่ปุ่น ประเทศอนุรักษนิยม อาจมี “ผู้นำหญิง” ก่อนสหรัฐ
SUB_NOI September 21, 2024 01:20 PM

ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 อีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ประเทศญี่ปุ่น พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party : LDP) กำลังจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ซึ่งนัยสำคัญคือผู้ที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคจะเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปของญี่ปุ่น

ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP จำนวน 2 คนจากทั้งหมด 9 คนเป็น “เพศหญิง” และ 1 ใน 2 คนนั้นเป็น “ตัวเต็ง” นั่นนำมาสู่การวิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความอนุรักษนิยมทางสังคมและไม่มีความหลากหลายทางเพศในเวทีการเมืองและตำแหน่งบริหารระดับสูง อาจพลิกกลายเป็นประเทศที่มี “ผู้นำหญิง” ก่อนสหรัฐอเมริกา ที่เป็นประเทศแห่งเสรีภาพและความหลากหลาย

ผู้สมัครหญิงหนึ่งเดียวใน 3 “ตัวเต็ง” คือ “ซานาเอะ ทาคาอิจิ” (Sanae Takaichi) หรือหากเขียนแบบญี่ปุ่นที่ขึ้นต้นด้วยนามสกุล คือ “ทาคาอิจิ ซานาเอะ” (Takaichi Sanae) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ทาคาอิจิได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายขวาของพรรค LDP และเธอถือเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ซึ่งหมายความว่า เธอสนับสนุนการยกระดับการป้องกันประเทศและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเธอก็สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐ และการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้า ๆ

หากเธอชนะ ชัยชนะของเธอจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หรืออย่างน้อยก็เป็นหมุดหมายสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์สำหรับประเทศที่ยังไม่เคยมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง หรือผู้ว่าการธนาคารกลาง เป็น “ผู้หญิง” มาก่อน

ดูเหมือนว่านี่จะเป็นข่าวดีสำหรับชาวญี่ปุ่นที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อยากเห็นผู้หญิงมีบทบาททางการเมือง และอยากเห็นผู้หญิงเป็นผู้นำระดับสูงในองค์กรมากขึ้น แต่ในความเป็นจริง หากทาคาอิจิได้เป็นนายกฯหญิงคนแรกของญี่ปุ่นจริง ก็อาจจะยังไม่ใช่ข่าวดีอย่างที่หลายคนคาดหวัง

หากใครคาดหวังว่าเธอจะเป็นผู้นำหญิงแนว “เพื่อนหญิงพลังหญิง” ก็คงจะผิดหวัง เพราะเธออาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น อิงตามการรายงานของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ทาคาอิจิไม่ค่อยพูดเรื่องสิทธิสตรีมากนัก เธอสนับสนุนกฎหมายที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศน้อยกว่าผู้สมัครหญิงอีกคน คือ โยโกะ คามิคาวะ (Yoko Kamikawa) หรือ คามิคาวะ โยโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน ซึ่งมีนโยบายให้การสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับผู้หญิงที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตร

ทาคาอิจิสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายบังคับให้คู่สมรสใช้นามสกุลเดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นบททดสอบว่าผู้สมัครเต็มใจที่จะสนับสนุนผู้หญิงและสิทธิสตรีแค่ไหน ขณะที่คู่แข่งชายของเธอที่เป็นตัวเต็งอีก 2 คนก็สนับสนุนกฎหมายนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทาคาอิจิได้เรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านสุขภาพของผู้หญิงมากขึ้น และเรียกร้องการพิจารณาลดหย่อนภาษีสำหรับบริการแม่บ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระการทำงานบ้านของผู้หญิง

ฮารูมิ ทากูจิ (Harumi Taguchi) นักเศรษฐศาสตร์ของ เอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) แสดงความเห็นว่า หากผู้หญิงได้รับเลือก นั่นหมายถึงเพดานกระจกหนึ่งบานจะหายไป จะเป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมทางเพศ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ยังมีความสงสัยอยู่ว่า ทาคาอิจิซึ่งเป็นนักการเมืองอนุรักษนิยมสายแข็ง และมี มาร์กาเร็ต แทชเชอร์ (Margaret Thatcher) อดีตผู้นำหญิงสายอนุรักษนิยมของอังกฤษเป็นแรงบันดาลใจ จะพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทในตำแหน่งผู้นำต่อไปหรือไม่

มาริ มิอุระ (Mari Miura) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโซเฟีย ในโตเกียว แสดงความเห็นว่า เพื่อที่จะเร่งความก้าวหน้า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำระบบโควตาสำหรับเพศหญิงมาใช้ แต่พรรค LDP คงจะไม่ทำเช่นนั้น การที่พรรครัฐบาลมีผู้สมัครหัวหน้าพรรคเป็นผู้หญิง 2 คน “เป็นเพียงการแสร้งทำให้เห็นว่ามีความเท่าเทียม แต่พรรคไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ”

มีการวิเคราะห์ว่า ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว ทาคาอิจิจะชนะหรือแพ้ แต่ในภาพรวม ญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่ล้าหลังในแง่ความหลากหลายทางเพศในเวทีการเมือง ดังที่มีข้อมูลเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพได้ชัด… ณ เดือนตุลาคม 2023 ญี่ปุ่นมีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพศหญิงเพียง 10.8% เท่านั้น ขณะที่รัฐสภาสหรัฐมีสมาชิกเพศหญิงสัดส่วน 29% และรัฐสภาเยอรมนีมีสมาชิกเพศหญิงสัดส่วน 35%

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.