จับจังหวะ คว้าโอกาส จาก “อีวี” จีน
SUB_NOI September 21, 2024 03:20 PM
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง

จะทำอย่างไรให้ค่ายรถยนต์จากจีน ที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์บ้านเรา ใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ (Local Content)

เหมือนเช่นเดียวกับเมื่อครั้ง ค่ายญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบก…มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต

ยังเป็นคำถามที่เหล่าผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้ง ใหญ่…กลาง…เล็ก ตั้งตารอคำตอบ

อยากให้กระบวนการผลิตเกิดระบบซัพพลายเชนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

หลายคนปรามาส… ถึงการเข้ามาของค่ายรถยนต์จากจีน เสมือน “อีวีศูนย์เหรียญ” ที่ท้ายสุดประเทศไทยไม่ได้อะไรจากการเข้ามาครั้งนี้

คำพูดที่ว่า จีนจะไม่แตะต้องวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากคนไทยเลย ด้วยการขนเครือข่ายการผลิตและกลุ่มชิ้นส่วนเข้ามาเองทั้งหมด

ยังเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง ซึ่งอาจจะเป็นคำกล่าวเกินไปกว่าความเป็นจริง

โดยนำไปเปรียบเทียบญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในบ้านเรา ทั้งลงทุน ร่วมทุนกับผู้ประกอบการคนไทย ถ่ายทอดและพัฒนาศักยภาพการผลิต

ทำให้ระบบซัพพลายเชนแข็งแกร่ง มีการแบ่งสรรปันส่วนให้ผู้ประกอบการไทย คนไทย ธุรกิจไทยได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน

ญี่ปุ่นใช้เวลา 50-60 ปี ตอนนั้นนักวิชาการหลายสำนักมองว่า ประเทศไทยก็แค่ “ผู้รับจ้างผลิต”

แม้จะมีชิ้นส่วนบางกลุ่ม บางประเภท ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ก็ยังไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง

เพราะชิ้นส่วน กลไก สำคัญที่ใช้ในการผลิต เช่น เกียร์, ECU ยังต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น

แต่อย่างไรก็ตาม ถือเป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลไทย ที่พยายามวางกรอบข้อบังคับ เงื่อนไข และมาตรการจูงใจในการลงทุน

จนสามารถผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก

วันนี้เช่นเดียวกัน มาตรฐานการดึงดูดนักลงทุนจากจีนที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่นั้น

ต้องให้ความเข้มข้นกับ กรอบ ข้อบังคับ และระยะเวลาที่กำหนด

ยิ่งในห้วงเวลาที่ประเทศจีน กำลังเผชิญกับวิกฤตจีโอโพลิติกและมาตรการการกีดกันทางการค้าจากยุโรปและอเมริกา

ถือเป็นจังหวะและโอกาส ที่เราจะใช้วิกฤตนี้ให้เกิดประโยชน์

เพราะนั่นหมายความว่า รถยนต์ (อีวี) ที่ผลิตจากจีนจะถูกแซงก์ชั่น จีนต้อง “ดิ้น” เพื่อหาฐานผลิตแห่งใหม่

ที่ไม่ใช่เฉพาะแค่การผลิตรถเท่านั้น ต้องลงลึกไปถึงการใช้วัตถุดิบ แหล่งที่มาและแหล่งกำเนิดสินค้า ต้องไม่ใช่มาจากประเทศจีน

ถึงเวลานั้น ความกังวลเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ หรืออีวีศูนย์เหรียญ ก็น่าจะคลายลง

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการกำหนดให้มีการลงทุนในลักษณะจอยต์เวนเจอร์

เราจะได้ทั้งโนว์ฮาวและเทคโนโลยี

แต่ต้องไม่ลืมว่า… ความแตกต่างระหว่างวิถีญี่ปุ่นที่เราคุ้นชินกันมากว่า 50-60 ปี

เน้นช้าแต่ชัวร์ ขณะที่จีน…เน้นคิดเร็ว ทำเร็ว

โอกาสครั้งสำคัญมาถึงแล้ว แม้ว่าต้นทุนการผลิตไทยอาจจะแพงกว่าจีน

แต่ถ้ามาตรการกีดกันทางภาษีหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ แพงกว่า (นิดหน่อย) แต่ยังขายรถได้

มีหรือ “มังกรจีน” จะยอมปล่อยหลุดมือ

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.