"นิกร"แนะ พท. ประนีประนอมถอยคนละครึ่งก้าวพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หากแตกหัก ส.ว. อาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไข รธน.
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.67 นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ว่า จากที่ตนเสนอแนวทางให้ใช้เกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมากชั้นครึ่ง คือต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ขณะที่เสียงเห็นชอบนั้นใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และต้องเป็นจำนวนที่มากกว่าเสียงโนโหวต แทนการใช้เสียงข้างมาก2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิและเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ นั้นเพื่อให้เป็นแนวทางประนีประนอม ระหว่างหลักการที่ กมธ.ฝั่ง ส.ส.ยึดถือ คือเสียงข้างมากปกติ และ กมธ.ฝั่ง ส.ว. ที่ต้องการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก2 ชั้น อย่างไรก็ตามในประเด็นข้อเสนอนั้นเชื่อว่าจะมี กมธ.ที่สนับสนุน ทั้งจากพรรครวมไทยสร้างชาติและจากพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากแนวทางเสียงข้างมากชั้นครึ่งนั้น เคยเป็นแนวทางที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติต่อสภาฯ
นายนิกร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการใช้เสียงข้างมากปกติ และต้องการให้สภาผู้แทนราษฎร ยืนยันบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว หลังจากที่ผ่านเวลา 180 วันนั้น ตนมองว่าพรรคเพื่อไทยควรประเมินให้ดี เพราะหากมีกรณีแตกหักในชั้น กมธ. ซึ่งเป็นการแตกหักกับ ส.ว. อาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตามขั้นตอนแล้วต้องได้เสียง ส.ว. รับหลักการวาระแรก 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง
"เสียงของ ส.ว.มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน หากไม่มีหนทางประนีประนอมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ส่วนที่กังวลว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติ ไม่ถึง ร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธินั้น ตามสาระของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ได้เปิดให้ใช้วิธีออกเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มาก และเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญเกินเกณฑ์กำหนด ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ 2 ฝ่าย พยายามประนีประนอมกันถอยคนละครึ่งก้าวเพื่อข้ามความยากลำบากนี้ไปให้ได้เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ผู้คนเฝ้ารอ” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมของ กมธ.ร่ว ในสัปดาห์หน้าจะงด และจะนัดอีกครั้งวันที่ 20 พ.ย. นี้ โดยเชิญตัวแทนของบริษัทไปรษณีย์ไทย และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือถึงแนวทางการทำประชามติด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากการตั้งหน่วยและลงคะแนนในคูหา เบื้องต้นจากที่ตนศึกษาแนวทางการทำประชามติด้วยระบบไปรษณีย์นั้น เชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้ แม้ไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งหลังจากที่ กกต. เข้าหารือกับ กมธ.ร่วมแล้ว ทราบว่าจะเดินทางไปดูงานการประชามติที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่กกต.จะกำหนดและออกแบบการทำประชามติผ่านระบบไปรษณีย์ที่เหมาะสมต่อไปได้.