จะลาพักร้อนไปไหน
SUB_BUA November 10, 2024 02:20 PM
คอลัมน์ : SD Talkผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์https://tamrongsakk.blogspot.com

เห็นคำถามนี้แล้วก็นึกขำ และคิดย้อนกลับไปสมัยทำงานประจำที่ผมก็เคยถามลูกน้องแบบเดียวกันนี้

แต่ก็ไม่เคยมีลูกน้องย้อนถามผมกลับมาว่า “แล้วพี่จะรู้ไปทำไม” ซักทีนะครับ

ในทางกลับกัน เมื่อผมบอกลูกน้องว่าจะลาพักร้อน ลูกน้องบางคนก็ยังถามผมว่าจะไปเที่ยวไหน

ผมก็บอกลูกน้องไป ก็ไม่เคยโกรธหรือเคืองลูกน้อง ว่าแกมีสิทธิอะไรมาถามฉันที่เป็นหัวหน้าเลยสักครั้ง

แถมลูกน้องบางคนก็ฝากผมซื้อของกินมาให้อีกต่างหาก !

เมื่อผมกลับมาจากพักร้อนแล้วยังต้องหิ้วขนมขบเคี้ยวกลับมาฝากซึ่งกันและกัน

ในทำนองเดียวกัน เมื่อลูกน้องผมกลับจากพักร้อนก็มักจะหิ้วของกินที่ซื้อกลับมาแบ่งกันกินในหน่วยงาน

ก็เลยอยากจะมาสรุปว่า ถ้าหน่วยงานไหนเกิดสัมพันธภาพไม่ดีระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เรื่องเล็ก ๆ ก็มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ และคำถามแบบนี้จะกลายเป็นคำถามแบบเป็นทางการ และเป็นประเด็นดราม่าได้ทันที

แต่ถ้าหน่วยงานไหนหัวหน้ากับลูกน้องมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน คำถามแบบนี้ก็จะเป็นเรื่องพูดคุยแบบพี่ ๆ น้อง ๆ คุยกันแบบขำ ๆ หยอกล้อกันไป

ถ้าจะพูดกันแบบเป็นทางการสำหรับหน่วยงานที่หัวหน้ากับลูกน้องรู้สึกไม่กินเส้นกันอยู่แล้ว แล้วถามว่าหัวหน้าควรถามลูกน้องไหมว่า “จะลาพักร้อนไปไหน ?”

คำตอบคือ “ไม่ควรถามครับ”

เพราะการลาพักร้อนเป็นเรื่องส่วนตัวของลูกน้องที่ต้องการใช้สิทธิตามมาตรา 30 ของกฎหมายแรงงาน เมื่อลูกน้องยื่นใบลาพักร้อนตามระเบียบ (เช่นต้องยื่นล่วงหน้า 3 วัน) หัวหน้าก็ต้องดูว่าจะอนุมัติให้ลาได้หรือไม่ ก็เท่านั้น เพราะถ้าไปถามแล้วลูกน้องไม่ตอบ หรือตอบมาว่าพี่จะรู้ไปทำไม หัวหน้าก็จะหน้าแตกเสียเปล่า ๆ

เพราะเขาจะพักร้อนแล้วไปไหนมันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ถ้าไม่สนิทกับลูกน้องพอก็อย่าไปถามให้ลูกน้องเอาไปเมาท์ลับหลังเลยครับ

แต่ถ้าลูกน้องลากิจล่ะ หัวหน้าถามได้ไหม ?

ก็ตอบได้ว่าการลากิจจะมีลักษณะที่แตกต่างจากการลาพักร้อนครับ

เพราะการลาพักร้อน (หรือจะเรียกให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานคือ “วันหยุดพักผ่อนประจำปี”) เป็นสิทธิของลูกน้องที่ตาม ม.30 แล้วหัวหน้าต้องจัดให้เขาหยุดล่วงหน้า หรือจะตกลงกันให้ลูกน้องเป็นคนยื่นขอพักร้อนตามสิทธิของเขาก็ย่อมได้

ซึ่งจะต่างจากวันลา (เช่น ลาป่วย, ลากิจ ฯลฯ) ที่ไม่ต้องไปจัดให้เขาหยุดล่วงหน้า

ถ้าเขายื่นใบลาพักร้อนตามระเบียบแล้วเขาจะไปเที่ยวไหน ไปทำอะไร ไม่จำเป็นต้องบอกหัวหน้า และหัวหน้าที่ไม่สนิทชิดเชื้อกับลูกน้องก็ไม่ควรไปละลาบละล้วงถามเขา

แต่กรณีการลากิจนั้น บริษัทมักจะต้องระบุในข้อบังคับการทำงานให้ชัดเจน ว่าพนักงานที่จะขอลากิจนั้นต้องยื่นใบลากิจล่วงหน้า (กี่วันก็ว่ากันไป) และต้องเป็นการไปทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นต้องไปทำด้วยตนเอง ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไปทำแทนได้

เช่น การลาไปบวช (นอกพรรษา, หรือบวชทดแทนคุณบิดา มารดา, หรือบวชหน้าไฟ) การลาไปแต่งงาน, การลาไปรับปริญญา ฯลฯ

อันนี้หัวหน้ามีสิทธิถามลูกน้องได้ว่า “ลากิจไปไหน” ซึ่งลูกน้องต้องตอบตามความเป็นจริง เพราะหัวหน้าจะได้พิจารณาได้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเห็นสมควรจะอนุมัติหรือไม่

ถ้าสมมุติว่า ถ้าลูกน้องโกหกว่าลากิจเพื่อไปโอนซื้อขายที่ดิน แต่ความเป็นจริงลูกน้องกลับไปเที่ยวลั้นลาชายทะเลต่างจังหวัด แถมโพสต์รูป Check in ลงวันเวลาสถานที่เที่ยวชัดเจน และไม่มีหลักฐานใด ๆ ในการไปโอนที่ดินจริงตามที่แจ้งลากิจเอาไว้ก่อนหน้านี้

หัวหน้าก็มีสิทธิยกเลิกการลากิจและออกหนังสือตักเตือนลูกน้อง ด้วยเหตุผลคือแจ้งลากิจเป็นเท็จ ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (No Work No Pay) ได้อีกต่างหาก

แรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ระหว่างฝ่ายบริหารกับพนักงานเท่านั้นแหละครับที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นปัญหาดราม่าต่อไปหรือไม่

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.