เปิดข้อเท็จจริงที่มาของโรค กลุ่มเสี่ยง วัคซีน และการตรวจรักษาเมื่อติดเชื้อ ที่กลับมาระบาดในโรงเรียน โดยหมอ ยง ภู่รวรรณ แพทย์กุมารเวช ย้ำให้ทำความเข้าใจกับโรคอย่าตื่นตระหนก
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ดร.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิตประจำสำนักวิทยาศาสตร์ ประเถทวิชา แพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ สาขา กุมารเวชศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan อธิบายถึงประเด็นโรคไอกรน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่กำลังพบการแพร่ระบาดในบางกลุ่มนักเรียนและวัยรุ่นในประเทศไทย โดยมีการปิดโรงเรียนบางแห่งเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าใจและลดความตื่นตระหนก โดยย้ำว่าการปิดโรงเรียนไม่ใช่การตอบสนองที่จำเป็นเสมอ ซึ่งข้อมูลของหมอยงเผยสรุปได้ ดังนี้
โรคไอกรน คืออะไร?โรคไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ซึ่งก่อให้เกิดอาการไอเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ แม้จะเป็นโรคเก่าแก่แต่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปีแล้ว สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉพาะทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือนที่ภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ โรคนี้อาจส่งผลถึงชีวิตได้ ส่วนในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โรคนี้มักไม่รุนแรง
ใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงบ้างสำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉพาะทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือนที่ภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ โรคนี้อาจส่งผลถึงชีวิตได้ ส่วนในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โรคนี้มักไม่รุนแรง
ดร.ยง ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองว่าไม่ควรตื่นตระหนกเกินเหตุเมื่อตรวจพบเชื้อไอกรนในเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะในกรณีที่อาการไม่รุนแรง พร้อมแนะนำให้ทำความเข้าใจและพิจารณาตามสถานการณ์ก่อนตัดสินใจให้เด็กขาดเรียน
โรคไอกรน มีวัคซีนป้องกันไหม?ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนไอกรนเริ่มตั้งแต่อายุ 2 เดือน ตามด้วยการกระตุ้นซ้ำเมื่ออายุ 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่ง และ 4 ขวบ รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง ในบางกรณีที่ครอบครัวสามารถจ่ายค่าวัคซีนได้ แพทย์แนะนำให้ฉีดกระตุ้นอีกรอบเมื่ออายุ 10-12 ปี ซึ่งจะฉีดวัคซีนรวมครอบคลุมทั้งคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก แต่การฉีดวัคซีนไอกรนให้ผู้ใหญ่มักเป็นแบบไร้เซลล์เพื่อลดผลข้างเคียง เช่น อาการไข้
วัคซีนป้องกันไอกรนมี 2 ประเภท คือแบบเซลล์ทั้งตัวที่ให้บริการฟรี และแบบไร้เซลล์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งชนิดไร้เซลล์มีไข้หลังฉีดน้อยกว่า แต่ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อได้คล้ายกัน วัคซีนแบบเซลล์ทั้งตัวช่วยป้องกันการเกาะติดของเชื้อบริเวณทางเดินหายใจได้ดีกว่า จึงเหมาะสมกับเด็กในครอบครัวทั่วไป ส่วนครอบครัวที่กังวลเรื่องผลข้างเคียงอาจเลือกวัคซีนแบบไร้เซลล์ที่แม้ราคาสูงกว่า แต่ลดความเสี่ยงไข้
ดร.ยง ชี้ว่าภูมิต้านทานไอกรนจะสูงในช่วง 10 ปีแรกหลังการฉีดวัคซีน แต่อาจลดลงเมื่อเด็กโตขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่น ภูมิต้านทานลดลงเหลือประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่รุนแรงในวัยรุ่นจึงไม่ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ
การตรวจและรักษาเทคโนโลยีการตรวจโรคทางเดินหายใจอย่าง PCR ในปัจจุบันสามารถตรวจหาเชื้อไอกรนได้รวดเร็วและแม่นยำ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง ตั้งแต่ 5,000 – 6,000 บาทต่อครั้ง การตรวจหาเชื้อนี้จึงจำกัดในโรงพยาบาลเอกชนหรือในครอบครัวที่สามารถจ่ายได้ ซึ่งส่งผลให้การพบเชื้อในหมู่นักเรียนเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มที่มีฐานะดี และเป็นที่มาของความเข้าใจผิดว่ามีการแพร่ระบาดในวงกว้างในโรงเรียน
นอกจากนี้ การพบเชื้อไอกรนด้วยวิธี PCR ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมีอาการรุนแรงเสมอไป เนื่องจากบางครั้งการพบเชื้ออาจเป็นเพียงการตรวจพบแบคทีเรียที่เกาะติดอยู่ในคอโดยไม่ได้ก่อโรคแต่อย่างใด ดังนั้นการตรวจที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกเกินเหตุ
อย่างไรก็ตาม หมอยง ยังเน้นว่าการปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมการระบาดของโรคไอกรนไม่ใช่การตอบสนองที่จำเป็น โดยโรคนี้มีความรุนแรงต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่หรือแม้กระทั่ง COVID-19 โดยการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นทางเลือกในการรักษาอย่างเหมาะสมมากกว่า การปิดโรงเรียนอาจทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนออนไลน์
หากพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่สูงในการตรวจหาเชื้อในวัยรุ่น และผลข้างเคียงที่น้อย ดร.ยงแนะนำให้ตรวจและรักษาเฉพาะในกรณีที่จำเป็น
อ้างอิง: Yong Poovorawan