ที่มา | รายงาน |
---|---|
ผู้เขียน | ทีมข่าววัฒนธรรม |
ก้าวเข้าสู่ปี 2568 ปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ หลังประสบวิกฤตหนักทั้งจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และวิกฤตทางการเมือง ทางฟากฝั่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ก็คึกคักไม่แพ้กัน…
เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2567 ภายใต้การกุมบังเหียนของ “นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ วธ. ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ก่อนสลับเก้าอี้ ให้ “รมต.ปุ๋ง” สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่ถูกโยกจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ วธ. แทนในเดือนพฤษภาคม 2567 กว่า 8 เดือน ที่ “นายเสริมศักดิ์” นั่งเก้าอี้ “รมว.วธ.” เหมือนเป็นการวางรากฐาน การดำเนินการต่างๆ ภายใต้เป้าหมายขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ พร้อมสืบสาน รักษา ต่อยอด โดยเน้นการขับเคลื่อนนโยบายรองรับ THACCA (Thailand Creative Content Agency) และการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ผลักดันงานวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดแต่อาจจะด้วยระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ค่อนข้างน้อย นโยบายที่ประกาศไว้ จึงยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร…
ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดใน 10 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาแรงงานด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะสูง รองรับความต้องการของตลาด ยกระดับงานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การสร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน และเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ จากการจำหน่ายสินค้า และบริการทางวัฒนธรรม หรือกระทั่ง การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการต่อยอดงานวัฒนธรรม ฯลฯ
ก่อนส่งให้ “รมต.ปุ๋ง” สุดาวรรณ รับไม้ต่อ โดยประกาศนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยมี “1 ภูมิภาค 1 มรดกโลก” เน้นส่งเสริมเศรษฐกิจ วัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ การผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนนำวัฒนธรรมไทยที่จับต้องไม่ได้มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าสูง ผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การยูเนสโก เป็นต้น …
ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง เหมือนเป็นการ “ฮันนีมูน” เดินสายตัดริบบิ้น เปิดงานโอท็อปจนแทบไม่มีผลงานให้เห็น!!
ส่วนหนึ่งอาจเพราะรอดูทิศทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นยังไม่นิ่ง เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติทางจริยธรรมร้ายแรงกรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นจากตำแหน่งยกชุด ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ส่งผลให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นนายกฯคนที่ 31 หลังฟอร์มทีม “ครม.อิ๊งค์ 1” เรียบร้อย และมีความชัดเจนว่าได้นั่งเก้าอี้ “รมว.วธ.” ต่อเนื่อง “รมต.ปุ๋ง สุดาวรรณ” จึงเริ่มผลักดันนโยบาย “วัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” เกิดเป็นกรอบแนวคิดขับเคลื่อนงาน คือ “4-3-2-1” หรือ “4 นโยบาย-3 แนวทาง-2 รูปแบบ-1 เป้าหมาย” กล่าวคือ 4 นโยบาย ได้แก่ 1.ส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ 2.เสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม 3.เสริมพลังสร้างสรรค์ให้ “คน” เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมและสังคม และ 4.พัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลก
เน้นการปฏิบัติงานใน 3 แนวทาง คือ 1.เชื่อมโยงอุตสาหกรรมวัฒนธรรมกับอุตสาหกรรม สาขาอื่นๆ 2.ร่วมมือ โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและทุกหน่วยงาน โปร่งใส ไม่ไซโล และไม่ซ้ำซ้อน และ 3.ยั่งยืน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ ประโยชน์ ที่ยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชน การบริหารจัดการที่ยั่งยืน และคุณค่าของวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ใน 2 รูปแบบ คือ 1.การรักษาสิ่งเดิม และ 2.การเพิ่มเติมสิ่งใหม่ อาทิ เร่งขึ้นทะเบียนมรดก การสร้างการยอมรับต่อวัฒนธรรมไทยของผู้คนทั่วโลก และผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมเข้าสู่แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ระดับโลก การสร้างความโดดเด่นและยกระดับคุณค่าและมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยอัตลักษณ์วัฒนธรรม และพัฒนาสู่สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในตลาดโลก เป็นต้น
ขับเคลื่อนสู่ 1 เป้าหมาย คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรมใน 3 ด้าน ด้านเศรษฐกิจ เร่งเพิ่ม GDP ด้านวัฒนธรรม ด้านสังคมยั่งยืนเพิ่มจำนวนแรงงานทักษะสูงด้านวัฒนธรรมจาก 9.9 แสนคน สู่ 1.2 ล้านคน และเข้าสู่ระบบวิชาชีพและการขับเคลื่อนสู่เวทีโลก โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้านซอฟต์พาวเวอร์ ในมิติวัฒนธรรม
ทั้งนี้ หลังประกาศนโยบาย ภาพรวมการทำงานก็ยังไม่มีความโดดเด่นมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการสานงานเดิม ที่ทำกันมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งปีนี้ 2567 ประเทศไทย ได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ขึ้นทะเบียนใน 3 รายการ คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลก ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2567 ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง-เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สำหรับ “เคบายา” เป็นการเสนอขึ้นทะเบียนร่วม 5 ประเทศ คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยที่ผ่านมาประเทศไทย มีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากยูเนสโกแล้ว จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา และประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย โดยต้มยำกุ้ง และเคบายา ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้รายการที่ 5 และ 6 ของไทยตามลำดับ การทวงคืนโบราณวัตถุจากต่างประเทศ ทั้งประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ หรือโกลเด้นบอย และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ที่ได้รับการประสานคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือเดอะ เมท หลังสูญหายไปจากประเทศไทยนานกว่า 40 ปี และล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ส่งคืนโบราณวัตถุจำนวน 4 ชิ้น จากแหล่งบ้านเชียงและแหล่งอื่นๆ ทางภาคกลางของไทย ซึ่งประกอบด้วยภาชนะดินเผา กำไลข้อมือ และลูกกลิ้งทรงกระบอก 2 ชิ้นที่ยังไม่ทราบการใช้งานที่แน่ชัด…
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นงานประจำที่ทำมาต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จ ส่วนนโยบาย “1 ภูมิภาค 1 มรดกโลก” ที่สร้างความฮือฮาได้แค่ช่วงเปิดตัว ประกาศผลักดันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี หรือเขาวัง ขึ้นมรดกโลก ตามด้วยโครงการสนับสนุน จ.น่าน ให้เป็นเมืองมรดกโลกเพื่อเป็นเมืองคู่แฝดหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) หวือหวาได้ประเดี๋ยวประด๋าว แต่สุดท้ายก็เงียบหาย…
เช่นเดียวกับ การผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์” วัฒนธรรมสร้างรายได้ ที่เน้นจัดอีเวนต์รายวัน ทั้งการนำ “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระ ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ที่กำลังโด่งดังในโลกออนไลน์ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ สื่อสารความเป็นไทยสู่สากล ให้เป็นที่รู้จัก โปรโมตประเพณี อาหาร หรือซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่นๆ หรือกระทั่งการจัดอีเวนต์ฉลอง “ต้มยำกุ้ง” หลังได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ที่เหมือนจุดพลุ สว่างวาบแล้วก็ดับไป…
ทั้งหมดนี้ ยังมองไม่เห็นแผนระยะยาวที่จะส่งเสริมวัฒนธรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้ประชาชน…
สอดคล้องกับความเห็นของ “นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ซึ่งกล่าวไว้น่าสนใจว่า การทำงานของ วธ.ในยุคนี้ เหมือนทำงานไม่เต็มแรง ทำเฉพาะด้านการอนุรักษ์ ความเข้าใจงานวัฒนธรรมยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เป็นการทำตามคำสั่ง และนโยบายที่ลงมาจากข้างบน มากกว่าการคิดสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ทำให้งานวัฒนธรรมไม่มีความเปลี่ยนแปลง แม้จะเปลี่ยนผู้บริหาร หรือเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการ วธ. ก็ไม่ช่วยนำความเจริญมาสู่สังคม เหมือนอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วที่มักจะใช้งานวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ สร้างรายได้ นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติ
“หากจะให้คะแนนการทำงานของ วธ.ในรอบปี 2567 จากคะแนนเต็มสิบ คงให้ได้ไม่ถึงครึ่ง ให้ได้ที่ 2 หรือ 3 คะแนน จากเต็ม 10 เพราะการทำงานยังงุ่มง่าม ไม่เห็นความก้าวหน้าหรือการพัฒนา โดยการทำงานของ วธ.ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ ส่วนหนึ่งเพราะยังติดกับระบบราชการ ที่เน้นงานอนุรักษ์ ไม่สร้างสรรค์หรือพัฒนาสิ่งใหม่ ที่สำคัญการทำงานวัฒนธรรมของ วธ. ยังมองไม่เห็นตัวตนของประชาชน วัฒนธรรมในความหมายของผม คือ วิถีชีวิต ซึ่งหมายถึงประชาชน ถ้าประชาชนไม่เป็นหลัก ก็จะทำให้การทำงานเกิดความเชื่องช้า” ศิลปินแห่งชาติกล่าว
ส่วนนโยบาย 1 ภูมิภาค 1 มรดกโลกนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นการไปเห่อตามแฟชั่น ได้ก็รู้สึกดีใจไปตามกระแส แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น…
ดังนั้น ในปี 2568 นี้ อยากให้ วธ.เร่งผลักดันส่งเสริมประชาชน รู้จักคุณค่าของตัวเอง เลิกค่านิยม เห็นคนอื่นดีกว่า “ตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่” และส่งเสริมให้ประชาชน มีความมั่นใจในความเป็นไทยให้มากขึ้น ที่สำคัญอยากให้ วธ.ส่งเสริมการแสดงพื้นบ้านในทุกจังหวัด และเปิดพื้นที่ให้เยาวชน และประชาชนได้แสดงออกด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยมากขึ้น แม้ภาพรวมการทำงานของ วธ.ปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์สอบตก แต่คงต้องให้กำลังใจ โดยเฉพาะ “รมต.ปุ๋ง สุดาวรรณ” หญิงแกร่ง “รัฐมนตรี” รุ่นใหม่ไฟแรง จากพรรคเพื่อไทย ที่ถูกโยกมารับโจทย์หิน…
เป็นเจ้ากระทรวง วธ. ซึ่งถือเป็นกระทรวงสำคัญในที่ต้องรับบทหนัก ในการนำวัฒนธรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศ ซึ่งมีความเชื่อมโยงทั้งด้านท่องเที่ยว วิถีชีวิต ชุมชน การค้าขาย รวมถึงต้องผลักดันสารพัดงานเข้าสู่นโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่แว่วว่าปี 2568 เตรียมงบประมาณในการขับเคลื่อนเรืองนี้อีกไม่น้อย…
คงต้องจับตาผลงาน วธ.ในปี 2568 ว่าจะไต่อันดับเพิ่มคะแนนได้มากน้อยแค่ไหน…