เศรษฐกิจจีนเดือนตุลาคมส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ผลจากมาตรการกระตุ้นชุดใหญ่ โดยเฉพาะยอดค้าปลีกที่เติบโตดีกว่าคาดการณ์
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2024 เผยว่าเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากยอดค้าปลีกในเดือนตุลาคมเติบโตดีกว่าคาด ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YOY) เพิ่มสูงสุดในรอบแปดเดือน บ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนเห็นผลในบางกลุ่ม แต่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5.3% ต่ำกว่าคาดการณ์
โดยยอดค้าปลีกอันแข็งแกร่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจ จากที่เคยต้องฝ่าฟันกับความเชื่อมั่นอันซบเซา และการเติบโตที่ล่าช้าของภาคการผลิต ซึ่งได้รับประโยชน์มาอย่างยาวนานจากนโยบายช่วยเหลือภาคการผลิตของรัฐบาลจีน
เรย์มอนด์ เหยิง (Raymond Yeung) หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจประจำประเทศจีน จากกลุ่มธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป (ANZ) สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อันดับที่ 3 ของออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายจะยินดีกับยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นนี้ และยินยอมให้กิจกรรมภาคการผลิตลดลงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มการบริโภค แม้ว่าจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเศรษฐกิจสองอัตราเร่งต่างกัน (Two-Speed Economy) จบลงแล้วหรือยัง
ตัวชี้วัดข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์จากมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจชุดใหญ่ของรัฐบาลจีน ที่ต้องการทำให้มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปีที่ 5% นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคอีกด้วย โดยมอบเงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อรถและอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนใหม่ ตามที่ประกาศไว้เมื่อต้นปีนี้และช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายบ้านเพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อน (YOY) มากสุดนับตั้งแต่ปี 2010
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลจีนจะรับมือกับภาวะเงินฝืดด้วยการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศต่อไปอีกนานเพียงใด เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้น หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐ เพราะทรัมป์จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอย่างน้อย 60% ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาคการส่งออกของจีนอย่างมาก
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุในแถลงการณ์ว่า “เราควรตระหนักว่าภาวะแวดล้อมรอบตัวเรานั้นซับซ้อนและรุนแรงกว่าเดิม อุปสงค์ที่เกิดขึ้นจริง (Effective Demand) ในประเทศยังคงอ่อนแอ และรากฐานการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องแข็งแรง”
การขยายตัวทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ต้นปี 2023 ที่ชะลอตัวที่สุดจนถึงไตรมาสสอง ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องหั่นอัตราดอกเบี้ยลงครั้งใหญ่ พร้อมทั้งมาตรการกระตุ้นทางการเงินและมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ชุดใหญ่ นอกจากนี้ ยังขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นเป็น 35.52 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 169.10 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถออกพันธบัตรพิเศษเพิ่มเติมได้อีก 6 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 28.56 ล้านล้านบาท)
ข้อมูลภาคเศรษฐกิจของจีนแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น การส่งออกเติบโตสูงสุดในรอบสองปี อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำและการปล่อยสินเชื่อยังคงเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซา
หลาน โฝอัน (Lan Fo’an) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีนสัญญาว่าจะออกนโยบายการคลังที่ “ทรงพลังกว่าเดิม” ในปี 2025 โดยเปรยถึงการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น การขยายการออกพันธบัตรพิเศษในท้องถิ่น และการใช้เงินระดมทุนอย่างเสรีมากขึ้น นอกจากนี้ หลาน โฝอัน ยังเสนอโครงการช่วยเหลือเงินสดแลกรถเก่าอีกด้วย
รัฐบาลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต่างเร่งขายพันธบัตรในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ จนมีมูลค่าหนี้สุทธิเกิน 1 ล้านล้านหยวน (ราว 4.81 ล้านล้านบาท) สามเดือนติดแล้วในเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลยังคงไม่แสดงผลต่อการลงทุน โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed-Asset Investment) ตลอดสิบเดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราการเติบโตเดียวกันกับเดือนมกราคมถึงกันยายน ส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ตกลง 10.3% ในช่วงสิบเดือนแรกของปี แย่กว่า 10.1% ของช่วงเก้าเดือนแรกของปี บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงลดลง แม้ยอดขายบ้านจะมีการฟื้นตัวในช่วงแรกก็ตาม นอกจากนี้ ราคาบ้านในจีนยังลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สองในเดือนตุลาคม ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมา