เฝ้าระวัง 6 โรคยอดฮิต ภัยสุขภาพมาเยือนพร้อมลมหนาว
treenarath_ November 15, 2024 08:22 PM

เฝ้าระวัง 6 โรค 3 อาการกำเริบ ภัยสุขภาพที่อาจมาเยือนในช่วงฤดูหนาว มีหลากสาเหตุ อาการที่ต้องเฝ้าสังเกต พร้อมวิธีการป้องกัน และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

แม้ว่ากรมอุตุฯ ประกาศ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังไม่รู้สึกถึงลมเย็น ๆ มาปะทะผิวแม้แต่น้อย กลับกันสิ่งตื่นมาเจอในทุกวันกลับเป็นเพียงฝุ่น PM 2.5 ที่ลอยอยู่บนอากาศ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หนำซ้ำอากาศหนาวมาเยือนประเทศไทยไม่กี่วัน และไม่ได้มีอุณหภูมิที่ต่ำเท่ากับประเทศอื่น

ทั้งนี้การมาของฤดูหนาวในแต่ละปีก็อาจนำพาความเจ็บป่วยบางอย่างมาหลายอาการ หรืออาจกลายมาเป็นโรค หากลมหนาวเล็ก ๆ นี้ มาประจวบเหมาะกับช่วงที่ร่างกายไม่แข็งแรง “ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวม 6 โรค และ 3 อาการที่มาพร้อมลมหนาวให้เฝ้าระวังกัน

โรคไข้หวัด

โรคนี้พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เมื่อป่วยแต่ละครั้งมักจะเกิดจากเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว เมื่อหายแล้วร่างกายจะสามารถต้านทานชนิดนั้นได้ แต่เมื่อป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากชนิดอื่น ๆ ที่มีกว่า 200 สายพันธุ์ เวียนกันไปเรื่อย ๆ

ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้จากการเป็นไข้ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ระคายคอ คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้งหรือเจ็บคอเล็กน้อย และอาการท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูก โดยทั่วไปโรคนี้จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์โดยธรรมชาติ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เจ็บป่วยเพิ่มขึ้น

การดูแลรักษาสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือทำกิจกรรมบางอย่างที่ไม่จำเป็น ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะน้ำผลไม้ รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอ

โรคไข้หวัดใหญ่

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ ชนิดเอ บี และซี เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซีนั้นพบน้อยในวงแคบและไม่รุนแรง ส่วนชนิดบีพบเฉพาะในคน ไม่ค่อยทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอนั้นพบได้ในคนและสัตว์นานาชนิด สามารถก่อโรคได้รุนแรง และเป็นปัญหาของโลกเกือบทุกปี เนื่องจากมีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่

ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูหนาวเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว แต่เนื่องจากเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตลอดเวลา จึงทำให้คนที่เคยป่วยไปแล้วสามารถกลับมาป่วยซ้ำได้อีก แต่โดยส่วนใหญ่โรคนี้ไม่ได้อันตรายร้ายแรงกับคนทั่ว ๆ ไป

ยกเว้นในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้มาก เช่น เกิดปอดอักเสบติดเชื้อ ทั้งจากไวรัส ไข้หวัดใหญ่เอง หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา

ข้อมูลรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-2 พฤศจิกายน 2567 มีผู้ป่วย 603,358 ราย และผู้เสียชีวิต 47 ราย สูงกว่าจำนวนผู้ป่วยเมื่อปี 2566 ที่มีจำนวนผู้ป่วย 472,222 ราย แม้ยังเก็บสถิติไม่ครบปี และยังคงสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง

อาการของไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการมากในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นอาจมีเจ็บคอ ไอแห้ง ๆ คัดจมูกน้ำมูกไหล โดยทั่วไปมีอาการอยู่ประมาณ 7-10 วัน ผู้สูงอายุอาจมีอาการไม่ชัดเจนได้บ่อย บางครั้งอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ซึม สับสนหรือการช่วยเหลือตนเองได้ลดลง

ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคปอดและหัวใจอยู่เดิม หรือภูมิคุ้มกันไม่ดี

โรคภูมิแพ้

โรคทางภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่เกิดจากร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้มีอยู่ทั้งในอากาศ ในฝุ่นละอองตามบ้าน รวมถึงในอาหารและยา ซึ่งอาการแพ้เกิดได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้และลักษณะจำเพาะของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น หอบ น้ำมูกไหล จาม คันตา คันจมูก คัดจมูก หายใจลำบาก ผื่นคันตามผิวหนัง อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือด เป็นลม หมดสติ และช็อก ปัจจัยสำคัญในการรักษาโรคภูมิแพ้ คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เพื่อลดอาการของโรค

สำหรับชาวโรคภูมิแพ้อยู่แล้วคงต้องเตรียมตัวรับมือกับอาการที่อาจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่อากาศเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ หรือบางคนที่มีอากาศแพ้ฝุ่น ควันบุหรี่ หรือขนสัตว์ ก็จะมีอาการมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศของไทยเปลี่ยนไปมากจากภาวะโลกร้อนและมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่หนักหนาขึ้นทุกปี โดยอาจมีอาการคันจมูก คันตา จาม มีน้ำมูกใส และคัดจมูกตลอดเวลา ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นนูนคันช่วงอากาศเย็น (Cold-induced Urticaria)

โรคหัด

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากไวรัสกลุ่มพารามิกโซไวรัส (Paramyxovirus) สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง เชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย โรคหัดถือเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็ก รวมทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กแม้จะมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคแล้วก็ตาม

ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ร่วมกับอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูกไหล ไอบ่อย ตาแดง ตาแฉะ ปากแดง อาการต่าง ๆ จะเป็นมากขึ้นพร้อมกับไข้ที่สูงขึ้น อาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งก่อนที่จะมีผื่นขึ้น หลังจากมีไข้ 3-4 วันจะเริ่มมีผื่นที่ผิวหนัง ระยะแรกผื่นจะมีสีแดง เริ่มเห็นผื่นขึ้นที่บริเวณตีนผมและซอกคอก่อนลามไปตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัวประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง เมื่อใกล้หายผื่นจะเปลี่ยนสีเข้มขึ้น

เนื่องจากโรคนี้เกิดการติดเชื้อไวรัส และอาการไม่รุนแรง จึงเน้นรักษาไปตามที่เป็นเหมือนไข้หวัด อาทิ เช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ นอกเหนือจากการรักษาตามอาการแล้ว ปัจจุบันแพทย์แนะนำให้รักษาด้วยวิตามินเอในผู้ป่วยโรคหัดเป็นเวลา 2 วัน แต่หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น มีอาการไอมาก เสมหะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเขียว หรือหายใจเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยควรจะไปพบแพทย์เพื่อรักษา

โรคอุจจาระร่วง

อุจจาระร่วง (Diarrhea) คืออาการถ่ายอุจจาระเหลวที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโนโรไวรัส (Norovirus) ที่สามารถพบบ่อยที่สุดในช่วงฤดูหนาว ไวรัสนี้จะแพร่ระบาดในอาหารที่ปรุงไม่สุก หรือผักผลไม้ที่ไม่สะอาด ทำให้ผู้ที่กินอาหารที่ไม่สะอาดเข้าไปเกิดอาการท้องเสีย หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดขึ้นและหายไปภายใน 2-3 วัน ด้วยการทานยาสามัญประจำบ้าน

อุจจาระร่วงมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับเบาไปถึงรุนแรง ดังนี้

  • ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้ ปวดศีรษะ
  • หน้าแดงและผิวแห้ง
  • อุจจาระมีเลือดปน
  • อุจจาระมีมูก หรือเมือกปน
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย

โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน หรือผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส แต่หากมีระยะเวลาต่อเนื่องเกิน 3 วัน มีไข้สูง และมีเลือดปนในอุจจาระ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการท้องเสียอย่างละเอียด

โรคปอดบวม

โรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับไข้หวัดทั่วไป สามารถติดต่อกันผ่านการไอ จาม น้ำมูก หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ วิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ การใส่หน้ากากอนามัยหากต้องไปในที่สาธารณะหรือที่ที่ผู้คนแออัด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ และหมั่นล้างมือเพื่อความสะอาด

สำหรับโรคปวดบวมสามารถสังเกตได้จากอาการไอ เจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก บางคนอาจมีอาการไข้หนาวสั่นร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญและมีอัตราการเสียชีวิตสูง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคสำคัญที่เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ระบุว่า

ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม-5 ตุลาคม พ.ศ. 2567 มีผู้ป่วยโรคปอดบวม จำนวน 293,419 ราย เสียชีวิต 568 ราย มากที่สุดในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และอายุ 5-9 ปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยปี 2567 กับค่ามัธยฐานปี พ.ศ. 2562-2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยในปัจจุบันและปี 2566 มากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง

อาการหอบหืด-ปอดเรื้อรังกำเริบ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดและโรงปอดเรื้อรังอาจมีอาการกำเริบหอบเหนื่อยมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะหาดติดเชื้อไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวจึงต้องดูแลสุขภาพให้ดี เตรียมความพร้อมเรื่องยาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

อุณหภูมิในร่างกายต่ำเกินไป (Hypothermia)

ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำมักเกิดกับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มผู้ป่วย โดยเฉพาะในบางราย ที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย นอกจากนั้นผู้ที่รับประมานยานอนหลับ หรือดื่มเหล้าจัด อาจหลับลึกในที่ที่มีอาการเย็นจัด ในบางพื้นที่ของประเทศที่มีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำกว่า 15-18 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ การดูแลป้องกันคือ การพยายามรักษาความอบอุ่นของร่างกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารครบถ้วน และพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศหนาวจัด

ผิวหนังแห้ง ลอกและคัน

ช่วงที่อากาศหนาว ความชื้นในอากาศและผิวหนังของเราจะลดลงไปด้วย อาจทำให้ผิวแห้ง คัน และลอกได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหากับคนผิวแห้งหรือผู้สูงอายุที่มีต่อมไขมันทำงานลดลง  การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่ขัดผิว ไม่แช่น้ำอุ่นนาน อาจลดจำนวนการอาบน้ำ และทาครีม หรือออยล์หลังอาบน้ำ ขณะที่ผิวยังหมาด

นอกจากการเฝ้าระวังและการติดตามสังเกตุอาการของโรคดังกล่าว เรายังสามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนี้

1.เตรียมความพร้อม ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะวิตามินชีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ และดื่มเครื่องดื่มที่สามารถให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้

2.ให้การดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงจะเกิดโรคได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้พิการ

3.สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่รักษาร่างกายให้อบอุ่น จัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาว และอยู่อาศัยในที่อบอุ่นสามารถป้องกันลมในภาวะอากาศหนาวได้อย่างเหมาะสม

4.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงอากาศหนาวมากขึ้น

5.เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการชัก และอื่น ๆ ที่มีผลทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง

6.หมั่นดูแลสุขอนามัยอยู่เสมอ รักษาความสะอาด ล้างมือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย และสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพิษณุโลก, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมควบคุมโรค

© Copyright @2024 LIDEA. All Rights Reserved.