ส.ว.เดือดนายกฯเทตอบกระทู้ ทำลายระบบการตรวจสอบ ตั้งฉายา "นายกฯ นินจา"
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ธ.ค.67 ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งตามระเบียบวาระมี ส.ว. ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล 6 กระทู้ ปรากฏว่า มีเพียงนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาชี้แจงกระทู้ถาม เรื่อง การระงับคลื่นวิทยุของ กสทช. ของน.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว. เพียงกระทู้เดียว ส่วนที่เหลืออีก 5 กระทู้นั้น รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงแทน แต่ปรากฏว่า ไม่มีรัฐมนตรีมาชี้แจงแม้แต่คนเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับ 5 กระทู้ที่รัฐมนตรีไม่ได้มาตอบนั้น ประกอบด้วย 1.กระทู้ถามเรื่อง โครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ของนายสากล ภูลศิริกุล ส.ว. โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ที่ได้มอบหมาย ขอเลื่อนตอบออกไปเป็นวันที่ 6 ม.ค. 68 2.กระทู้ถามเรื่อง มาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ รมว. โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข แจ้งว่าขอเลื่อนตอบออกไปเป็นวันที่ 13 ม.ค. 68 3.กระทู้ถาม เรื่อง การเจรจาผลประโยชน์ร่วมกันในเขตพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ของนายยุคคล ชนะวัฒน์ปัญญาส.ว. โดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ที่ได้รับมอบหมาย ขอเลื่อนตอบออกไปเป็นวันที่ 27 ม.ค.68
4. กระทู้ถามด้วยวาจา เรื่อง การรุกล้ำอธิปไตยไทยของประเทศกัมพูชาและกองกำลังว้าแดง ของนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา ส.ว. โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แจ้งว่าติดภารกิจ และ 5.กระทู้ถามด้วยวาจา เรื่อง ความปลอดภัยของประชาชนจากอาวุธปืนและระเบิด ของนาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ส.ว. โดย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ที่ได้รับมอบหมายก็แจ้งว่าติดภารกิจเช่นกัน
นายยุคล กล่าวว่า การตั้งกระทู้ถามทั้ง 2 เรื่องของตนตั้งถามนายกรัฐฒนตรี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งเรื่อง เอ็มโอยู 2544 ที่บังคับใช้ไม่ได้ทำไมถึงไม่ยกเลิก และกรณีเรื่องของว้าแดง อย่างไรก็ตามจากกรณีที่นายกรัฐมนตรีหนีตอบกระทู้ของวุฒิสภา ตนขอตั้งฉายาว่า "นายกฯ นินจา" หนีตอบกระทู้ในสภาอย่างน่าสังเวช ซึ่งตนจะสอบถามทุกสัปดาห์ว่านายกรัฐมนสตรีจะหนีอีกหรือไม่
ด้าน นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐฒนตรี แถลงผลงานเมื่อครบ 90 วัน ซึ่งไม่เคยมีรัฐบาลไหนแถลงนโยบายเมื่อทำงานได้ 90 วัน มีแต่ผลงานครบ 1 ปี ซึ่งการรีบแถลงผลงานเหมือนกับจะรีบไป ตนไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเล่นตลกกับ ส.ว. แบบนี้ เพราะทำลายระบบการตรวจสอบ ส.ว.
“ผมจะถามว่านายกฯ อายไหมถึงแต่งกายคล้ายชุดนอนมาเดินแถวเกียรติยศ บางงานเอาสามีมาด้วย และแต่งตัวไม่เข้าระบบการทำงานฐานะผู้นำประชาชน ซึ่งการตรวจแถวเกียรติยศ การทำงานของนายกรัฐมนตรี จะมาทำเล่นทำหัวไม่ได้ เอาลูกมาเดินเล่นในทำเนียบไม่ได้ จะบอกว่า แฟมิลี่เกิร์ลไม่ได้ เป็นคนละเรื่องกัน การตรวจสอบเป็นหน้าที่ สว. แต่นายกรัฐมนตรีไม่เคยให้เกียรติเลย ผมขอไว้อาลัยกับความไร้ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นางอังคณา นีลไพจิตร สว. อภิปรายตอนหนึ่งว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ดีใจ ที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงและขออภัยกับ นพ.เปรมศักดิ์ ที่บอกว่าเอาลูกมาทำเนียบ เพราะคิดว่าการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ควรทำหน้าที่ “แม่” ไปพร้อมๆกัน ในการตอบกระทู้ของนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องสำคัญ ยังไม่เห็นนายกรัฐมนตรีมาที่วุฒิสภาเพื่อตอบคำถามของ สว. เมื่อสภามีหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล หากนายกรัฐมนตรีไม่มา เป็นประเด็นที่ขอตั้งข้อสังเกต ว่า ฐานะความเป็นนายกรัฐมนตรี ควรตอบคำถามด้วยตนเองและมาที่วุฒิสภา ไม่เช่นนั้นจะไม่สง่างามและมองว่าไม่เห็นความสำคัญของวุฒิสภา
“นายกรัฐมนตรีได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศมากมาย แต่การทำหน้าที่ในประเทศ ต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา มีความสำคัญมากกว่าการได้รับคำยกย่องจากประเทศหากนายกรัฐมนตรีมาและรับฟังข้อกังวลของ ส.ว. นายกรัฐมนตรีจะเป็นคนเก่ง และสั่งการแก้ปัญหา ต่อไปเมื่อมีกระทู้ถามตรงนายกรัฐมนตรีจะให้เกียรติกับ ส.ว. และมาตอบคำถามด้วยตนเอง” น.ส.อังคณา กล่าว
ในช่วงท้าย นายอลงกต วรกีทำลายระบบการตรวจสอบ ได้หารือว่า การตั้งกระทู้และตอบ การถ่ายทอดทุกครั้งไม่ใช่บางกรณีดูในราชกิจจานุเบกษาได้ การนำเสนอว่ามีกระทู้กี่ครั้ง กี่คน หากเห็นว่าระเบียบไม่ได้ ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบข้อบังคับ การตอบกระทู้เข้าใจว่าสำคัญ แต่การนำเสนอที่เป็นวาจาผู้บริหารมีภารกิจสำคัญ หากจะให้อะไรสำคัญกว่าอะไร ขอให้ยื่นญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาได้
ภายหลังการหารือกันอย่างกว้างขวาง ท้ายที่สุด นายมงคล ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า วันนี้รับของฝากเยอะ และผมยินดีที่จะรับฝาก โดยจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด