นพดล ยัน เพื่อไทยไม่กังวล สนธิ เตือนอย่าใช้ เฮทสปีช สร้างความเกลียดชัง
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปทวงคำตอบจากรัฐบาล ในประเด็นที่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันหรือเอ็มโอยู 44 ว่าในฐานะที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยากให้ความชัดเจนกับประชาชน 1.คือ การเคลื่อนไหวของนายสนธิไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล รัฐบาลและพรรค พท.ไม่ได้กังวล แต่ขอให้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
อย่าใช้เฮทสปีชหรือวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง และที่สำคัญอย่าใช้ความเท็จสร้างกระแสปลุกความเกลียดชังในชาติ รัฐบาลไม่ได้กังวล ถ้าลงถนนอาจจะรถติดนิดหน่อย 2.อยากชี้แจงว่ารัฐบาลชี้แจงได้ทุกประเด็น ในข้อห่วงใยทั้ง 6 ข้อที่ได้ยื่นไปให้รัฐบาลนั้น รัฐบาลกำลังทำคำตอบอยู่และชี้แจงได้ทุกข้อ
3.ข้อห่วงใยที่บอกว่าซึ่งเป็นข้อเห็นต่างระหว่างนายสนธิกับฝ่ายรัฐบาล เป็นไคลแม็กซ์นั้นคือ นายสนธิกับพรรคพวกบอกว่าเอ็มโอยู 44 จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน เพราะไปยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา แต่ความจริงแล้วฝ่ายรัฐบาลและกรมสนธิสัญญาและกฎหมายยืนยันชัดเจนว่าเอ็มโอยู 44 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ท่านจะเชื่อใคร
นายนพดลกล่าวว่า 4.ฝ่ายที่คัดค้านเอ็มโอยู 44 ตอนนี้พยายามยกข้อกฎหมายให้ดูน่าเชื่อถือ เปิดประเด็นใหม่ไปเรื่อย ตั้งแต่เกาะกูดไม่เสียก็เปิดประเด็นใหม่ อีก โดยอ้างว่าการเจรจาด้วยเอ็มโอยู 44 จะทำให้ไทยเสียเขตแดนเพราะเป็นการไปยอมรับเส้นของกัมพูชา ยืนยันชัดเจนว่า ได้สอบถามจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแล้วว่า เอ็มโอยู 44 จะไม่ทำให้เกิดสิทธิของกัมพูชาใดๆ ทั้งสิ้น
5.ที่ให้ยกเลิก JC 44 ด้วยนั้น เป็นการแถลงร่วมระหว่างสมเด็จฯฮุน เซน กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่มีปัญหาใดใดกระทบสิทธิทางด้านเขตแดนของไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตใดๆ
6.หากท่านเป็นคนบริหารประเทศ จะเลือกเชื่อใครระหว่างม็อบกลุ่มคนที่บอกว่าไม่เห็นด้วย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย
“ขีดเส้นใต้ 500 เส้นครับ ไม่ยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา เพราะไม่ได้ลากตามกฎหมายระหว่างประเทศ” นายนพดล กล่าว และว่า ทุกหน่วยงานจะแอบทำไม่ได้เด็ดขาด จะลงนามได้นั้นต้องผ่านประตูถึง 5 บาน ผ่านคณะทำงาน ผ่านคณะอนุ JTC คณะกรรมการ JTC ผ่านคณะรัฐมนตรี และยังต้องมาผ่านสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภาเห็นชอบ โปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน