ส่องศก.ไทยปี’68 รุ่งหรือร่วง?
ก้าวสู่ปีงูเล็ก (มะเส็ง) ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยสิ่งที่น่าจับตาคือเรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์” แน่นอนว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก การค้า การลงทุน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกประเทศสูง
หลังจากที่ปีมังกร (มะโรง) ที่ผ่านมาหลายฝ่ายคิดว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นมา จากที่ยังไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนโควิด-19 เสียที แต่กลับกระท่อนกระแท่น ทั้งภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและเศรษฐกิจโลก ก่อนที่จะดีขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี
ส่วนภาคการบริการและการท่องเที่ยวที่หวังให้เป็นพระเอก ก็เจอกับทั้งเรื่องความปลอดภัย ข่าวใหญ่ที่ยิงกลางห้างดัง จนชะลอไป และกำลังจะเร่งเข้าสู่ไฮซีซั่น แต่ก็เผชิญน้ำท่วมใหญ่ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยปี 2567 คงยังไปไม่ถึงฝันที่จะเกิน 3% ได้ในปีนี้
“มติชน” ได้รวบรวมบทวิเคราะห์เศรษฐกิจปี 2567 และปี 2568 จากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ เพื่อแสดงถึงแนวโน้ม และปัจจัยเตรียมพร้อมเข้าสู่ปีใหม่นี้
คลังลุ้นปี’68โต3%หวัง5ปัจจัยบวก
เริ่มจากกระทรวงการคลัง แม่ทัพใหญ่ภาคเศรษกิจของรัฐบาล โดยนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า กระทรวงการคลังประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวที่ 2.7% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 1.9% ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จึงทำให้คงประมาณการเท่าเดิม
สำหรับเศรษฐกิจปี 2568 กระทรวงการคลังคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-3.5% จากปัจจัยบวก 5 ด้านหลัก คือ 1.การบริโภคภาคเอกชน 2.การส่งออกสินค้า 3.การท่องเที่ยว 4.แรงสนับสนุนจากงบประมาณปี 2568 และ 5.การลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1% ต่อปี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.7% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ปัญหาหนี้ครัวเรือน และภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป
อีกหน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
(จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ขยายตัว 3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และคาดว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะเร่งขึ้นอีก ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% ปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ 2.การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ 3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ 4.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า
สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงปี 2568 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะนโยบายจากสหรัฐ 2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด 3.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน 4.การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร และ 5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง
ธปท.ห่วงโลกแบ่งขั้วมากขึ้น
ส่วนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2568 สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมที่จะเจออย่างแน่นอนเป็นเรื่องความไม่แน่นอนสูง ทำให้คาดการณ์ผลที่จะตามมาได้ยากมาก โดยปี 2568 คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 2.9% สำหรับความไม่แน่นอนที่จะได้เห็นในปี 2568 คือโลกจะแบ่งขั้วกัน กีดกันทางการค้ามากขึ้น และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าตามนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีผลกระทบต่อการค้าขายแน่นอน ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจประเทศหลักไม่ได้ดำเนินไปในทางเดียวกัน เพราะการฟื้นตัวไม่เท่ากัน
การแบ่งขั้วของโลกที่เกิดขึ้นครั้งนี้เกิดขึ้นควบคู่กับเศรษฐกิจจีนที่เติบโตช้า ทำให้มีการระบายสินค้าจีนออกมาในตลาดโลก และเข้ามาในไทยจำนวนมาก ปี 2566 ไทยขาดดุลการค้าจีนเกือบ 1 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันภาวะการบริโภคและการผลิตของไทยเริ่มไม่ดีเมื่อเทียบกับอดีตที่การบริโภคเติบโตเฉลี่ย 1.8% การผลิตเติบโต 1.6% แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การบริโภคเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1% แต่การผลิตเติบโตเพียง 0.6% สะท้อนว่าขณะนี้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง การกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ท่ามกลางการนำเข้าสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้มีการนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้นไปอีก ยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยมากขึ้น และกระทบไปถึงกลุ่มสินเชื่อ ทำให้การตั้งหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น
ด้านภาพรวมเศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.7% สะท้อนจากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา คงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25% แม้เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
หวั่นทรัมป์2.0กระทบศก.68
สอดคล้องกับนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2568 เชื่อว่ายังอยู่ในขาขึ้นต่อ สะท้อนจากเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ที่เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5-2.6% ส่วนปี 2568 คาดว่าจะโตประมาณ 2.6-2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 3% บวกๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงในนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่จะมีผลกระทบต่อไทยด้วยแน่นอน
ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2568 ถือว่ามีปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแรงมากขึ้น มาจากการลงทุนภาครัฐที่ขยับขึ้นมา รวมถึงเห็นการบริโภคภาครัฐขยับขึ้นมา อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวที่รัฐบาลทำได้ดี โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2567 น่าจะประมาณ 35-36 ล้านคน ส่วนปี 2568 น่าจะเข้ามาใกล้เคียงกับปี 2562 ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ประมาณ 39-40 ล้านคน รวมถึงไทยเที่ยวไทยจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ปี 2567 การใช้จ่ายไม่มากนักตามภาวะเศรษฐกิจ
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่องถึง 5% ต่อปี โดยต้องปรับโครงสร้างการแข่งขัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เน้นเรื่องที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี บินไปหารือกับนักลงทุนต่างชาติไว้ รวมถึงต้องอัพสกิลแรงงานไทย ลดต้นทุนหนี้ครัวเรือนผ่านการทำให้ธุรกิจลืมตาอ้าปากได้ พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถมากขึ้น ทั้งนี้ มองว่ามาตรการแก้หนี้ของรัฐบาลเป็นเพียงการบรรเทาเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยให้รายได้เพิ่มมากขึ้นมาอยู่เหนือรายจ่าย จึงต้องพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น
หวังนทท.40ล.คนเท่าระดับปกติ
ภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2567 ถือว่าฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่ได้ดีเท่าที่คาดหวังไว้ โดยมีปัจจัยที่ส่งผลจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก สงครามที่ไม่ยอมยุติลง รวมถึงการฟื้นตัวของจำนวนเที่ยวบินที่ยังไม่กลับไปเทียบเท่าปี 2562 หรือก่อนเกิดโควิด-19
ทำให้ทั้งปี 2567 น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า เป้าหมายการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ ตั้งเป้าหมายการทำงานของ ททท.ไว้เป็นการสร้างรายได้รวมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ภายใต้จำนวนนักท่องเที่ยว 35 ล้านคน จากข้อมูลพบว่า ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 ธันวาคม 2567 ทั้งสิ้น 33,491,851 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1,573,080 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย ทั้งนี้ หากประเมินสัปดาห์สุดท้ายที่มีเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งจะจัดงานเคาต์ดาวน์ยิ่งใหญ่ในหลายจุดทั่วกรุงเทพฯและทั่วไทยนั้น น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ถึง 1.5 ล้านคน ในช่วง 3 วันสุดท้ายของปี 2567 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีเข้าเป้า แต่รายได้รวมอาจวิ่งไม่ถึงเส้นชัย โดยอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาทเท่านั้น เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้นักท่องเที่ยวมีการระมัดระวังในการใช้จ่ายสูง
สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2568 เชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน ตามนโยบายของนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ประกาศเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2568 ภายใต้แนวคิด Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025 โดยตั้งเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ภายใต้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
กว่า 40 ล้านคน เป็นครั้งแรก พร้อมผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและกีฬาระดับโลกอย่างยั่งยืน
หนี้ครัวเรือนฉุดรั้งการใช้จ่าย
ขณะที่นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มองว่าปี 2568 มีความท้าทายมากมายรออยู่ จึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปี 2568 จาก 2.8% เหลือ 2.5% พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย โตจาก 2.6% เหลือ 2.4% โดยสะท้อนมาจากผลกระทบจากความเสี่ยงนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่กดดันการบริโภคภาคเอกชนและการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ EIC สำรวจมุมมองของผู้บริโภคทุกกลุ่ม มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมปีหน้าจะกระทบกับตัวเองผ่านค่าครองชีพเป็นหลัก โดยในระยะข้างหน้าประเด็นที่น่าจับตาคือ ข้อมูลเครดิตบูโรชี้ว่าคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนจะคลี่คลายได้ช้า เนื่องจากลูกหนี้บุคคลที่เป็นหนี้เสียมากกว่า 70% ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้สม่ำเสมอ และลูกหนี้บุคคลเอสเอ็ม (กลุ่มค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน) ประมาณ 70-80% มีโอกาสจะกลายเป็นเอ็นพีแอล โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต
ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2567 การเติบโตมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น คาดว่าจีดีพีจะโต 2.6% มีภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ยังเป็นเครื่องยนต์หลักนำรายได้เข้าประเทศ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35-36 ล้านคน ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังต้องเผชิญกับปัญหาความท้าทายรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลกโตต่ำ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงภาวะหนี้สินของครัวเรือนและธุรกิจสูง คาดว่าจีดีพีไทยปี 2568 โตเพียง 2.6% และปี 2569 โต 2.4% โดยเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงในปีหน้าเป็นผลมาจากปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว จากปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่สะท้อนจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวลงต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่มีผลในการกดดันเศรษฐกิจ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ภาคบริการและการท่องเที่ยวจะไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากเท่าเดิม 2.ภาคการผลิตของไทยยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว และ 3.ภาคการส่งออก อาทิ ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบ
จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดโลก
ภาคอสังหาฯหวังรัฐลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และนายกสมาคมอาคารชุดไทย ให้ความเห็นถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2568 ว่า ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2567 หรืออาจจะติดลบเมื่อเทียบกับปี 2567 ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการ หรือนโยบายที่จะมากระตุ้นภาคอสังหาฯเพิ่ม โดยกำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัว ต้องหากำลังซื้อจากภายนอกเข้ามา ถ้ารัฐเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือซื้ออสังหาฯ
ในไทยได้ก็จะกระตุ้นกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยได้
สำหรับโครงการบ้านเพื่อคนไทย โดยไม่คิดเงินดาวน์ คิดค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาทต่อเดือน ให้สิทธิเช่าระยะยาว 99 ปี โดยให้สิทธิเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยเป็นเจ้าของบ้านมาก่อน หรือต้องการเป็นเจ้าของบ้านหลังแรก เป็นมาตรการที่จะสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ แต่อาจจะกระทบกับกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท